นายจิรณุ กุลชนะรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้ประกอบธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) ที่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและบริษัทชั้นนำของประเทศใช้บริการมากว่า 40 ปี เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเสนอข้อมูลทิศทางการดำเนินงาน จุดแข็งและโอกาสการเติบโตในอนาคตให้แก่นักลงทุนทั่วไป เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 85 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 27.42 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 76.5 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวนไม่เกิน 8.5 ล้านหุ้น โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
บมจ.สยามราชธานี มีประสบการณ์บริหารและจัดการ Outsource มากว่า 40 ปี ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการ 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร และธุรกิจให้เช่าและบริการ พร้อมสร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ผ่านชื่อ SO People สำหรับการบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์ พนักงานสำนักงาน และพนักงานช่างเทคนิค SO Next สำหรับการบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล SO Green สำหรับบริการดูแลภูมิทัศน์ และ SO Wheel สำหรับบริการรถยนต์ให้เช่า ภายใต้วิสัยทัศน์ดำเนินงาน สยามราชธานี คือผู้ให้โซลูชั่นที่พลิกการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจให้เป็นเรื่องง่าย (Siamrajathanee All Solutions One Outsource: Simplify Your Life) มุ่งเน้นสร้างงานบริการหลากหลายและมีคุณภาพ โดยนำความต้องการของลูกค้ามาต่อยอดการให้บริการและขยายธุรกิจ ด้วยความชำนาญของบุคลากรคุณภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูลสมัยใหม่มาพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ใช้บริการต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน บริษัท มีฐานลูกค้าหลักรายใหญ่ อาทิ กลุ่มโตโยต้า เป็นลูกค้ามายาวนานกว่า 15 ปี, กลุ่มฮอนด้า 12 ปี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 13 ปี ,บริษัท ไทยออยล์ จำกัด 14 ปี ,การไฟฟ้านครหลวง 17 ปี, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 13 ปี, การประปาส่วนภูมิภาค 16 ปี และการท่าเรือแห่งประเทศไทย 15 ปี เป็นต้น
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การจัดหาบุคลากรจากภายนอกเข้ามาดำเนินการแทนในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของธุรกิจ อาทิ งานธุรการ งานขับรถยนต์ ถือเป็นอีกทางเลือกการบริหารจัดการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่บริษัทให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท จากศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตที่ดีของตลาด Outsource สะท้อนได้จากวงเงินงบประมาณและมูลค่าการทำสัญญาของโครงการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประเภทจ้างทำของ หรือจ้างเหมาบริการ มีมูลค่าเติบโตทุกปี โดยในปี 2562 มีวงเงินงบประมาณดังกล่าว จำนวน 230,533 ล้านบาท และมีมูลค่าที่ทำสัญญา 215,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 14 และร้อยละ 12 ตามลำดับ แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของ Monitor Deloitte และ Dubai Outsource City ประมาณการมูลค่าการใช้บริการ Outsource โลกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ในช่วงปี 2562 -2566 จาก 603.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 เป็น 731.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566
จากความต้องการใช้บริการธุรกิจ Outsource รวมทั้งความสามารถในการทำธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนานและประสบการณ์ที่บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ประมาณร้อยละ 90 และมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ของรายได้ ทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย บริษัทจึงมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในส่วนธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากรและธุรกิจให้เช่าและบริการ เช่น แผนเพิ่มจำนวนพนักงานที่ส่งไปปฏิบัติงานกับลูกค้าในธุรกิจจัดหาบุคลากร แผนขยายการลงทุนในธุรกิจบริการรถยนต์ให้เช่า แผนพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Automation เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและความง่าย ในการให้บริการลูกค้า เป็นต้น แต่ละแผนงานคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในต้นปี 2564 - 2566
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักลูกค้า ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนที่อยู่ในหลากหลายประเภทธุรกิจครอบคลุม สถาบันการเงิน ประกันภัย โรงพยาบาล ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม เหล็ก อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและปิโตรเลียม และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการไฟฟ้าภูมิภาค และการประปาภูมิภาค เป็นต้น
“เราเชื่อว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ส่งผลดีเช่นกัน กล่าวคือทำให้ผู้ประกอบการ จะต้องบริหารบุคลากรท่ามกลางวิกฤติ ซึ่ง Outsource ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถลดความเสี่ยงและต้นทุนลงได้ เช่นเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ ที่เป็นปัจจัยทำให้ SO เติบโตขึ้น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามราชธานี กล่าว
นายณัฐพล วิมลเฉลา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของบริษัทยังจะมุ่งเน้นขยายตลาดบริการด้านข้อมูล หรือ SO Next แบบครบวงจร เพื่อรองรับการ Transform องค์กรในรูปแบบ Digital Transformation ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในยุคปัจจุบัน ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเฉพาะงาน รวมถึงระบบที่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน ISO 27001 : 2013 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยด้านข้อมูล และเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท
นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น กล่าวว่า ผลประกอบการ SO เติบโตและมีกำไรต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีรายได้รวม 1,732.32 ล้านบาท กำไรสุทธิ 116.11 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 1,850.88 ล้านบาท กำไรสุทธิ 101.01 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 1,955.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 109.06 ล้านบาท และล่าสุดงวด 6 เดือน ของปี 2563 มีรายได้รวม 1,027.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 58.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 10.57และร้อยละ 22.79 ตามลำดับ
รายได้รวมสำหรับงวด 6 เดือนของปี 2563 เติบโตขึ้นมาจากธุรกิจบริการจัดหาบุคลากร ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทในสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้าที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 60% ของรายได้จากการประกอบธุรกิจหลักรวม เทียบจาก 3 ปีก่อนสัดส่วนลูกค้าหน่วยงานภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 56% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการให้บริการเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และมีความประสงค์จะใช้บริการจัดหาบุคลากรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ SO มีนโยบายจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
ปัจจุบัน SO มีทุนจดทะเบียน 310 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 310 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท มีทุนที่ออกและชำระแล้ว 225 ล้านบาท หรือ 225 ล้านหุ้น โดยมีครอบครัววิมลเฉลา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุน SO จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต รวมทั้งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืม จากสถาบันการเงิน