ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 27

พุธ ๓๐ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๕:๒๑

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Virtual Finance Ministers? Meeting: APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ณ สศค. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหพันธรัฐมาเลเซีย (นาย Tengku Zafrul Tengku Abdul Aziz) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ซึ่งแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2563 คือ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญ และความก้าวหน้า (Optimizing Human Potential towards a Resilient Future of Shared Prosperity: Pivot. Priorities. Progress.) โดยมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1. การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของตลาดการเงิน ฐานะทางการคลัง และปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และจากการที่สมาชิกเอเปคดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ความโปร่งใสและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 ที่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 2473 (ค.ศ. 1930) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมาก (Extreme Poverty) จะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564

2. การประชุม APEC VFMM ในครั้งนี้สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 เพื่อที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ จะนำไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการด้านการคลังและการเงินในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค การขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ของสมาชิกแสดงให้เห็นว่า ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับไทยที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดยร้อยละ 98 ของแหล่งเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ

การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 28 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 โดยมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ