นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ (กลาง) เป็นตัวแทนส่งมอบโครงการศึกษาทดลองวิจัยความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์หอมแขก ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยให้แก่นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (ที่ 4 จากซ้าย) เพื่อให้เกิดการต่อยอดวิจัยพัฒนาการปลูกหอมแขกเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรไทย โดยมีนางสุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากซ้าย) ซึ่งให้ให้การสนับสนุนโครงการฯ ร่วมส่งมอบ ณ ศูนย์เรียนรู้แหล่งเพาะปลูกหอมแขก อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
โอสถสภายึดมั่นและดำเนินตามแนวพระราชปณิธารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมโดยการให้เบ็ดแทนการให้ปลามาโดยตลอด ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมอย่างยั่งยืน โดยได้ส่งมอบเครื่องมือในการประกอบอาชีพต่างๆ ให้แก่สังคม ทั้งความรู้และอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสามารถเรียนรู้ที่จะยืนหยัดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยหอมแขก พืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดแต่ยังไม่เคยมีการปลูกในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และได้ทำการส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดต่อไป
วิถีชีวิตของชุมชนในชนบทที่เปลี่ยนแปลงไปสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญและโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การผลิตพืชผักตามกระแสหรือคาดเดา ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ และกลายเป็นปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โอสถสภาจึงได้ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้ใช้ทักษะศักยภาพที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และเป็นที่มาของการสนับสนุน ?โครงการศึกษาทดลองวิจัยความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์หอมแขก ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย?ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยได้รับเกียรติจาก นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะขยายพื้นที่ไปสู่เกษตรกรในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
?การส่งเสริมอาชีพที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการต่อยอดศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ และเหมาะสมกับสภาพอากาศของพื้นที่ พืชที่จะแนะนำให้เกษตรกรต้องเป็นพืชผักชนิดใหม่ มีความเสี่ยงน้อย ทนต่อการเก็บรักษาและการขนส่ง ที่สำคัญ ต้องเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด 'หอมแขก? คือพืชที่ตอบโจทย์ เหมาะที่จะนำมาส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร เนื่องจากเป็นหนึ่งในพืชผักที่ประเทศไทยนำเข้า แต่ไม่เคยมีการทดลองวิจัยมาก่อน เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกและตอบสนองอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย? นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าว
เนื่องจากไม่เคยมีการเพาะปลูกหอมแขกในประเทศไทยมาก่อน ไม่เคยมีการทำวิจัย ไม่มีข้อมูลด้านวิชาการเกษตรที่สามารถอ้างอิงหรือเป็นข้อมูลในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้ จึงต้องทำงานทดลองวิจัยโดยนักปรับปรุงพันธุ์พืชควบคู่ไปกับการทดลองปลูกโดยเกษตรกรที่ร่วมโครงการ เป็นเวลาราว 10 ปี จึงสามารถปลูกได้สำเร็จ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายได้ ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกหอมแขก สามารถจำหน่ายผลผลิตได้หมดและมีราคาที่สูงกว่าผักทั่วๆ ไป โดยสามารถจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 60-90 บาท ส่วนเมล็ดนั้น สามารถจำหน่ายในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 6,000 บาท นับเป็นพืชที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
?ผมอยากเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ อยากจะลบความเชื่อเดิมๆ และพิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรรมสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ผมจึงทุ่มเทให้กับการทดลองปลูกหอมแขก และวันนี้เราสามารถทำได้สำเร็จแล้ว ตอนนี้ผมและพี่ๆ น้องๆ ที่ร่วมโครงการ มีรายได้จากหอมแขก เราขายได้ราคาสูงกว่าพืชผักอื่นๆ ที่เคยปลูก และยังเห็นโอกาสอีกมาก เพราะปัจจุบันผลิตได้ไม่พอขาย และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า หอมแขก เป็นพืชที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขายและการขนส่ง และยังสร้างรายได้ดีที่สุดในตอนนั้นอีกด้วย? นายสรศักดิ์ ไวจันทึก หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรปลูกหอมแขก อำเภองน้ำเขียว กล่าว
ความความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์หอมแขกให้สามารถปลูกในประเทศไทยได้นี้ ถือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน โอสถสภาจึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกหอมแขกใน 3 รูปแบบได้แก่ 1) จัดทำหนังสือถอดบทเรียนหอมแขกและแจกจ่ายให้หน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมสื่อเกษตร มหาวิทยาลัย 16 แห่ง ทั่วประเทศ และเกษตรกรในพื้นที่เครือข่ายปลูกหอมแขกทั้ง 3 แห่ง 2) จัดทำวีดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและการปลูกหอมแขกในประเทศไทย 3) จัดตั้งศูนย์เรียนรู้แหล่งเพาะปลูกหอมแขก อำเภอวังน้ำเขียว เพื่อเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับเปิดให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาองค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ในปี 2563 โอสถสภาจึงได้ส่งมอบโครงการนี้ให้กับสาธารณะ โดยส่งมอบศูนย์เรียนรู้แหล่งเพาะปลูกหอมแขก อำเภอวังน้ำเขียว ให้กับเกษตรกรที่เป็นส่วนสำคัญในการร่วมวิจัยมาตั้งแต่ต้น และส่งมอบโครงการวิจัยให้แก่ สวทช. ซึ่งจะได้ทำการสานต่อการวิจัยพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยทาง สวทช. เล็งเห็นว่าหอมแขกเป็นพืชทางเลือกที่สามารถสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างอาชีพ และยังมีตลาดรองรับที่ชัดเจน จึงได้นำหอมแขกมาแนะนำให้สมาชิกในโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ปลูก ซึ่งจะช่วยขยายองค์ความรู้ไปสู่วงกว้าง
?โอสถสภามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนให้เมล็ดพันธุ์ของหอมแขกได้งอกเงย และนำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้เกษตรกร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ที่เราได้ส่งมอบในครั้งนี้ จะเติบโตอย่างงดงาม ผลิดอกออกผลและสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย ตามจุดมุ่งหมายสำคัญของโอสถสภาที่มุ่งมั่นในการเป็นพลังเพื่อเสริมสร้างชีวิตให้สังคมไทย? นางสุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าว
สำหรับเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับการปลูกหอมแขก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แหล่งเรียนรู้และแปลงทดลองปลูกหอมแขก อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา (คุณสรศักดิ์ ไวจันทึก โทร. 09 0252 4490 และ 08 4474 4097)