สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดตัวโครงการ ?บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง? นำเทคโนโลยีโทรมาตร และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก มาหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติทางน้ำ ทั้ง น้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ใช้เวลาในการวางแผนและดำเนินการมานานร่วม 2 ปี ก่อนนำโทรมาตรวัดไปทดลองติดตั้งที่ขอบจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำจากไทยที่ไหลสู่แม่น้ำโขง ทั้งหมด 10 จุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด คือ จังหวัดเลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร และอุบลราชธานี โดยเครื่องวัดจะคำนวณปริมาณน้ำในแม่น้ำ และปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ดังกล่าว ทุกๆ 10 นาที แล้วส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบของสถาบัน AIT และ สสน. โดยสถาบัน AIT จะติดตามผล รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เผยแพร่ลงเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถตรวจเช็คได้ด้วยตัวเอง และในอนาคตจะนำข้อมูลย้อนหลังมาวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งขึ้นบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที ลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ศาสตราจารย์ ดร.ซังกัม เซรสต้า หัวหน้าโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนมาจาก U.S. Department of the Interior และ USAID องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา โดยเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นธรรมชาติขนาดใหญ่ของฝั่งไทยและลาว ขณะเดียวกันช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ่อยครั้ง หลายครั้งสร้างความเสียหายให้ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากน้ำท่วมฉับพลัน ประชาชนไม่รู้ตัว ไม่สามารถเตรียมการรับมือได้ โครงการครั้งนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาวิธีการสังเกตและเก็บข้อมูลทรัพยากรน้ำและสภาพอากาศของริมน้ำโขง เพื่อให้การตรวจ ติดตามผล มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน ดร.วรวิทย์ มีสุข หัวหน้างานโทรมาตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า สถานีโทรมาตรที่ทำร่วมกับสถาบัน AIT ทั้ง 10 จุดนี้ เกิดขึ้นจากเงื่อนไข 2 ข้อ คือ เป็นสถานที่ที่ไม่มีเครื่องติดตั้ง โดยเฉพาะในฝั่งลำน้ำสาขาที่จะไปเติมลุ่มน้ำโขง และไม่ซ้ำกับสถานีที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ที่ใช้ในโครงการนี้เป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งพัฒนามาจากรุ่นแรก เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การสื่อสารและส่งข้อมูลทำได้สอดรับกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ดร.ซังกัม เซรสต้า ธิบายเพิ่มเติมว่า ในการรายงานผลการวัดปริมาณน้ำและน้ำฝนจะแสดงเป็นกราฟ ให้เห็นระดับน้ำแล้ง ระดับน้ำปัจจุบัน และระดับน้ำที่เข้าข่ายอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนได้วิเคราะห์ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ทั้งนี้ทั้ง 10 จุด จะมีขั้นของความเสี่ยงน้ำท่วมและน้ำแล้งไม่เท่ากัน เนื่องจากบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ข้อมูลเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จากชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้น หลังจากหมดระยะเวลาของโครงการ ทีมงานจะถ่ายทอดความรู้ทั้งการใช้และรักษาเครื่องมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลเครื่องมือเหล่านี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน