บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (?SCGP? หรือ ?บริษัทฯ?) ประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่แสดงความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ ชูศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และแผนงานขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรับประโยชน์จากเมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิภาคนี้ คาดเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณวันที่ 22 ตุลาคม 2563
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น โดยเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อเมื่อวันที่ 1-2 และ 5 ตุลาคม 2563 ที่ราคา 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น พร้อมทั้งสำรวจความต้องการซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการซื้อที่ช่วงราคาเสนอขายสูงสุดคือ 35.00 บาทต่อหุ้น และมีความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้น IPO ที่จัดสรรไว้ จึงกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) หุ้น IPO ที่ 35.00 บาทต่อหุ้น โดยมั่นใจว่าราคาดังกล่าวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพของ SCGP ที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเสนอขายหุ้น IPO คาดว่าจะนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประมาณวันที่ 22 ตุลาคมนี้
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ SCGP ครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ (ไม่รวมหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน อาจใช้สิทธิซื้อหุ้น IPO จากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ (กรณีที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) โดยในการเสนอขายหุ้น IPO แก่นักลงทุนรายย่อย และการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบันที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีมากและเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีคุณภาพ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของ SCGP ที่เป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน และมีแผนงานขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ขยายธุรกิจ ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยวางแผนขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมุ่งนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมุ่งคิดค้นและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ในด้านแผนงานขยายการลงทุนนั้น จะมีทั้งโครงการที่ SCGP ขยายการลงทุนเอง และเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) โดยในปี 2563 บริษัทฯ ได้เจรจาและลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนามที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ นอกจากนี้มีโครงการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวม 4 โครงการ ใช้งบลงทุนรวมประมาณกว่า 8,200 ล้านบาท จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2563-2564 และอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) ดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) ทั้งกระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าชั้นนำระดับสากลได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร