อาคาร Learning Exchange (LX) จุดเปลี่ยน มจธ. พลิกโฉมการเรียนรู้รูปแบบใหม่

จันทร์ ๑๒ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๔:๒๒

เมื่อระบบการศึกษาวันนี้ยังมีความไม่เท่าเทียม ทำอย่างไรให้ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นพหุวิทยาการจากสถาบันอุดมศึกษาสามารถไปสู่ทุกคนทุกช่วงวัย และเอาความรู้นั้นออกไปใช้ทำงานให้ได้ ไม่ใช่การเรียนรู้แบบเดิมจากตำรา หรือทฤษฎี หรือบรรยากาศการนั่งในห้องเรียนฟังอย่างเดียวอีกต่อไป

รศ. ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและพลิกผันไปสู่จุดใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่พึ่งของทุกคนต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งใหม่ เพราะอนาคตการศึกษาไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมในอดีตการศึกษาภาคบังคับเป็นการเรียนแบบมัดห่อ เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาสาขาไหนจะได้รับใบปริญญาบัตรเฉพาะศาสตร์นั้นๆ ปัจจุบันจะเป็นการศึกษาที่ไม่เป็นทางการมากขึ้นเรียนแบบแยกส่วน และเป็นหน่วยย่อย (Micro credential: MC) เพื่อให้การเรียนรู้สามารถกระจายเข้าถึงทุกคนทุกช่วงวัยนำความรู้ไปทำงานได้จริง และตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมต่างๆของ มจธ.จะเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (The Multidisciplinary Learning Exchange Building: LX) จึงเป็นสถานที่ๆ มหาวิทยาลัยฯ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อรองรับแนวคิดการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของ มจธ. (New Approach to Learning) ที่เรียกว่า Micro Credential (MC) เป็นการตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิต

?เราจะไม่เรียนวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือสถาปัตย์ฯ อยู่เฉพาะในตึกคณะนั้นๆ แต่ทุกพื้นที่ใน มจธ.จะค่อยๆปรับให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือ Learning Space ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะในสำนักหอสมุด หรือ Science Learning Space คณะวิทยาศาสตร์ แต่พื้นที่ส่วนอื่นของมจธ.จะทยอยปรับเปลี่ยนตามแผนแม่บท Learning Space ของมหาวิทยาลัย สำหรับอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ตั้งใจออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้นักวิจัยทุกศาสตร์มาทำงานวิจัยร่วมกัน ค้นหาความรู้ใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จับต้องได้ เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องสมอง ไม่ใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่ใช้หลายๆ ศาสตร์ร่วมกัน กลายเป็นการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แล้วนำความรู้ต่างๆ เหล่านั้น ถ่ายทอดลงให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และหมุนเวียนความรู้จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือ ความรู้จะถูกหมุนจากล่างกลับขึ้นบนเพื่อนำไปสู่การทำวิจัย ค้นหาความรู้ใหม่ๆ แล้วนำความรู้ถ่ายทอดกลับลงมา ภายใต้ระบบนิเวศหรือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การจัดกิจกรรม และวิธีการทำงานที่ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งผลิตและพัฒนาแรงงานคุณภาพให้กับประเทศ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมการศึกษาและการทำงานของ มจธ.ไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเป็นความหมายสำคัญของอาคารแห่งนี้?

?เพราะ มจธ. กำลังสร้างโลกใหม่ให้กับเด็กรุ่นใหม่ จึงต้องมองคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ดังนั้น วันนี้ มจธ. ต้องเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนการบริหารจัดการใหม่ ไม่ยึดติดกับคำนิยามเดิมในอดีต เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่สามารถที่จะมีความรู้อยู่บนโลกใหม่ได้ เป็นสิ่งสำคัญกว่า?รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มจธ. กล่าวถึงทิศทางของ มจธ.ในอนาคตว่า อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX เป็นอาคารที่มีความสำคัญอย่างมากภายใต้บริบทที่เรากำลังจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่ได้หมายถึงแหล่งที่มีเนื้อหาการสอนหรือภาพสไลด์โชว์ แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคน เกิดการทำงานร่วมกัน และทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX เป็นก้าวหนึ่งของพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้กายภาพของ มจธ. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนใดของมหาวิทยาลัยจะต้องมีโอกาสเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนที่เข้ามา โดยเราจะทำให้อาคาร LX ทั้งอาคารเป็นที่ถ่ายทอดความรู้ทั้งในเชิงการออกแบบ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและพลังงาน ซึ่งเรานำองค์ความรู้เหล่านี้มาใส่ให้ตัวอาคาร เพื่อให้ผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกสามารถเรียนรู้เนื้อหา องค์ประกอบและชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคาร ได้จากระบบดิจิทัลหรือผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ หรือ IOT เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การทำให้ มจธ.เป็น Living Lab หรือ ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของเราที่จะเปลี่ยนให้ มจธ.กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งมหาวิทยาลัย

?ขณะที่เราใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เราสามารถหาองค์ความรู้จากทุกที่ทุกเวลาใน มจธ. นั่นคือสิ่งที่จะเป็นเป้าหมายสำคัญของเรา และคำว่า Learning Innovation เป็น keyword สำคัญที่ทำให้เราก้าวออกไปจากรูปแบบเดิมของการให้ความรู้ของการเรียนการสอน อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX นี้จะเป็นอาคารต้นแบบที่จัดให้นักศึกษามาแลกเปลี่ยนขณะเดียวกันยังเป็นอาคารที่จะใช้ประโยชน์เป็นแหล่งวิจัยขนาดใหญ่ของกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนในรูปแบบเดิม แต่เกิดขึ้นในห้องที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เป็นห้องที่จะเกื้อหนุนให้นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น?

ผศ. ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นความคิดของการใช้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย และทำให้ มจธ.เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ในการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ประเทศกำลังต้องการกำลังแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่จะช่วยให้เขามีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถทำงานในยุคที่เกิดการ Disruption อย่างมาก และเป็นยุคที่คนจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องปรับตัวเอง เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตและทำงานได้อย่างมีคุณภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ