กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หนุนคนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขเท่าเทียมในสถานการณ์โควิด-19 อัดฉีดทุนวิจัย 1.18 พันล้านบาทแก่ 322 สถานพยาบาลทั่วไทย พัฒนา ?เฮลท์เทคสู้โควิด-19? ภายใต้โครงการ ?ส่งเสริมและสนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ต่อสู้สถานการณ์ COVID-19? ได้แก่ ห้องความดันลบด้วยระบบ IoT ระบบ CT Scan คัดกรองผู้ป่วยด้วย AI/ 5G และระบบ Teleconference ให้คำปรึกษาโรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งนี้ กทปส. มุ่งผลักดันการพัฒนา ?นวัตกรรมหรืองานวิจัย? ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรด้านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนในหลากมิติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8113 และ 02-554-8114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์หรือวิกฤตสุขภาพ ?โควิด-19? ได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการรักษาความสะอาด คือ ?เฮลท์เทค? (Health Tech) นวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจรักษา ที่มาพร้อมความทันสมัย พร้อมรองรับการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น ในช่วงวิกฤตดังกล่าว กทปส. ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงเดินหน้าดำเนินโครงการ ?ส่งเสริมและสนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ต่อสู้สถานการณ์ COVID-19? ภายใต้งบประมาณ 1.18 พันล้านบาท ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วไทยรวม 322 แห่ง
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ สถานพยาบาล ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ประกอบด้วย สถานพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ ใน 13 เขตสุขภาพ ตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนานวัตกรรม ?เฮลท์เทคสู้โควิด-19? เพื่อรองรับผู้ป่วยหรือเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนสามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ในระยะยาว โดยไฮไลท์นวัตกรรมที่น่าสนใจ มีรายละเอียดดังนี้
- ห้องความดันลบด้วยระบบ IoT ห้องที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการตรวจวินิจฉัย ที่ได้รับการปรับปรุงจากห้องผู้ป่วยเดิม ผ่านการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาเชื่อมต่อในห้องความดันลบ ที่มาพร้อม 3 เซนเซอร์ตรวจวัดสำคัญ ได้แก่ เซนเซอร์อุณหภูมิ เซนเซอร์ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ และเซนเซอร์คาร์บอนไดออไซด์ของอากาศ (CO2) พร้อมแสดงผลผ่าน Freeboard NETPIE นอกจากนี้ ยังมีระบบ Teleconference สำหรับการวินิจฉัยโรคระหว่างคณะแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ ห้องความดันลบดังกล่าว สามารถพัฒนาและติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
- ระบบ CT Scan คัดกรองผู้ป่วยด้วย AI/5G การวินัจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี AI และ 5G ช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำใน 10 วินาที อีกทั้งยังรายงานผลการตรวจอัตโนมัติใน 30 วินาที ทั้งนี้ นับว่ารวดเร็วกว่าวิธีการปกติถึง 6 เท่า ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของแพทย์ และยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจรักษาที่เร็วยิ่งขึ้น โดยในอนาคตอันใกล้ เตรียมนำร่องใช้จริง ณ สถานพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยอาการผู้ป่วยเป็นลำดับต่อไป
- ระบบ Teleconference ให้คำปรึกษาโรงพยาบาลเครือข่าย แม้หน่วยงานสาธารณสุข/อนามัยชุมชน จะกระจายครอบคลุมทุกเขตสุขภาพแล้ว แต่ในแง่ของการได้รับการรักษาพยาบาลในภาคประชาชน ยังมีข้อจำกัด อันเนื่องมาจากความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น การมีระบบ Teleconference ระบบประชุมทางไกล สำหรับให้คำปรึกษาโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ได้รับทุนจาก กสทช. 20 แห่งทั่วประเทศ เข้ามาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ณ สาธารณสุข/อนามัยชุมชน กับ โรงพยาบาล จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลเขตเมือง
อย่างไรก็ดี กทปส. มุ่งผลักดันการพัฒนา ?นวัตกรรมหรืองานวิจัย? ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรด้านการสื่อสาร อาทิ เครือข่ายอัจฉริยะ 5G เทคโนโลยีเอไอ (AI) ไอโอที (IoT) และอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนในหลากมิติ สู่การลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงระบบ/บริการสาธารณะของประเทศเต็มประสิทธิภาพ อันสอดคล้องกับ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในมาตรา 52 (1) ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และ มาตรา 52 (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8113 และ 02-554-8114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS