EXIM BANK เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2563 เคียงข้างผู้ประกอบการไทยเร่งฟื้นฟูธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19

อังคาร ๒๗ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๐๘:๔๕

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กันยายน 2563) ว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 129,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,027 ล้านบาท หรือ 18.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 34,836 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 94,935 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 116,353 ล้านบาท เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 40,284 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.62%

การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีวงเงินสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 94,835 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 55,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,717 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ EXIM BANK มุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 39,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,308 ล้านบาทหรือ 15.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและเป้าหมายการดำเนินงานของ EXIM BANK ภายใต้ทีมไทยแลนด์ ภายหลังการเปิดสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญเมื่อปี 2560-2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามเป็นลำดับต่อไป

สำหรับการให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุนเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีโอกาสที่จะชำระเงินล่าช้าหรือประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 125,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,420 ล้านบาทหรือ 29.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามความต้องการของกิจการ และออกมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยาลูกค้า ประกอบด้วยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับ EXIM BANK การขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ต่อเติม ปรับปรุงโรงงาน หรือส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูลในการตัดสินใจค้าขายกับผู้ซื้อในต่างประเทศ และประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเร่งชี้โอกาสเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวและเล็งเห็นช่องทางการค้าในตลาดใหม่ ๆ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ด้าน e-Commerce ผ่านการให้คำปรึกษา จัดอบรม และสัมมนาออนไลน์แก่ผู้ประกอบการไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 6,000 ราย วงเงินรวม 54,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกค้า EXIM BANK ที่ยังประสบปัญหาในการดำเนินกิจการส่งออกหรือลงทุนระหว่างประเทศในปัจจุบันสามารถเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ เพื่อขอขยายระยะเวลา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินกู้ตามความต้องการของกิจการ โดยสามารถขอรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยและกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) 6.26% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 8,120 ล้านบาท นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 13,565 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 167.05% สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่น ๆ เท่ากับ 1,758 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,271 ล้านบาท

"จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองกว่า 1,700 ล้านบาท แสดงให้เห็นฐานะทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูกิจการของลูกค้า อันจะเป็นการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ธนาคารจำเป็นต้องเร่งขยายบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินให้แก่ลูกค้าตามความต้องการของแต่ละกิจการที่แตกต่างไป และตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามสภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจในตลาดโลก เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่พร้อมตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของทุกภาคส่วนตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศไทยแม้ในสภาวะที่ภาคเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีนี้" นายพิศิษฐ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO