ฝนพรำตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง กระนั้นสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ยังคงเตรียมต้อนรับน้องๆ จากหลากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษาราว 10 คนจาก 40 คนที่ได้รับทุนรางวัลโครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์" รายละ 20,000 บาท โดยการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เป็นครั้งแรกที่การจัดค่ายอบรมวิจารณ์วรรณกรรมปรับรูปแบบเป็น Visual Workshop ผสมผสานระหว่าง On Ground กับ Online ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom เพื่อการเข้าถึงเยาวชนในทุกพื้นที่ได้มากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เฝ้าระวังไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันก็ยังคงวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้และสร้างสรรค์งานวรรณกรรม
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการผ่านทาง Zoom ว่า ธนาคารกรุงเทพอยากสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ได้ใช้ค่ายนี้ฝึกทักษะการอ่าน สามารถสังเคราะห์ความคิดจากการจับประเด็นต่างๆ และแสดงออกเป็นความเห็น ซึ่งกระบวนการต่างๆ หรือทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากในโลกสมัยใหม่
"จะเห็นว่าทุกวันนี้เรามีข้อมูลมากมายไม่ว่าผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งอื่นๆ แต่สำคัญคือ คนเรามักจะรีบให้ความเห็นหรือมีรีแอ็คชั่น ซึ่งบางครั้งอาจขาดข้อมูลที่ครบถ้วนหรือไม่ได้มองแง่มุมต่างๆ ฉะนั้นกระบวนการอ่านเขียนเรียนรู้ที่เราจัดเวิร์คช็อปครั้งนี้จะเป็นการช่วยฝึกทักษะการอ่าน เสริมสร้างทักษะด้านความคิด และเพิ่มทักษะการแสดงความคิดเห็นโดยการเชื่อมโยงสิ่งที่อ่าน สิ่งที่สังเคราะห์ และสิ่งที่แสดงออกเพื่อเป็นความเห็นต่าง ซึ่งถ้าเราฝึกบ่อยๆ ก็จะมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่างๆในการสื่อสารที่ดีขึ้น"
ขณะที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 กล่าวถึงความสำคัญของการจัดค่ายอบรมการวิจารณ์วรรณกรรมว่า การวิจารณ์ช่วยส่งเสริมให้เกิดสังคมประชาธิปไตย บ้านเมืองไหนที่มีคนวิจารณ์แบบมีเหตุผลบ้านเมืองนั้นก็สงบ
"อยากให้งานวิจารณ์มีพัฒนาการ เราต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องของการวิจารณ์และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เพียงแต่ในค่ายนี้จะเป็นการวิจารณ์วรรณกรรม เอาตัววรรณกรรมเป็นตัวทดลอง เมื่อเขาสามารถแสดงการวิจารณ์ได้ ความเป็นประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นพื้นฐาน" และว่าในสื่อออนไลน์มีการวิจารณ์ แต่ก็เป็นการวิจารณ์อย่างไม่มีหลักการ อยากพูดอะไรก็พูด อยากว่าอะไรก็ว่า เราจัดค่ายอบรมขึ้นต้องการให้สิ่งนี้มีอยู่ ถ้าเราสามารถปูเรื่องนี้ไปกับการวิจารณ์วรรณกรรมได้ มันจะติดตัวเด็กไป เด็กจะรู้ว่าเวลาจะวิพากษ์วิจารณ์ใครต้องมีเหตุผล ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการอ่านการเขียนไปในตัว เพราะเราจะวิจารณ์ต้องอ่านก่อน เมื่อมีคนอ่านมาก คนเขียนก็ต้องพยายามเขียนเพื่อให้คนอ่านอีก มันก็จะพัฒนาไปด้วยกันทั้งการอ่านและการเขียนทั้งสองฝ่าย วงการอ่านการเขียนก็จะพัฒนา
ทางด้าน จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ อีกหนึ่งวิทยากรของค่าย ให้ทัศนะว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเรียนรู้การวิจารณ์ (วรรณกรรม) เป็นเรื่องของทัศนะวิจารณ์ เรื่องของระบบคิดให้เข้าใจว่าเราจะมองโลกอย่างไรมากกว่า "ปัจจุบันพื้นที่ในการวิจารณ์มันเปลี่ยน นิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นพื้นที่หลักน้อยลง แต่สิ่งที่เราเห็นมากคือการวิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์คือ การที่ไม่มีการคัดกรองโดยกองบรรณาธิการที่เป็นระบบ หลายคนเปิดเว็บเพจเป็นผู้วิจารณ์และนำเสนอ"
กับประเด็นจรรยาบรรณของผู้วิจารณ์นั้น จรูญพร บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ บางคนวิจารณ์เอามัน ซึ่งส่วนมากจะเห็นในการวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าพื้นที่ของสื่อจะเป็นอะไรก็ตามในแง่ของคนที่ทำงานวิจารณ์เราเรียกร้องการวิจารณ์ที่เข้มข้น บ้างแค่เล่าเรื่องให้ฟังและบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมันอาจจะน้อยเกินไป ควรมีการพูดถึงแง่มุมต่างๆ ใช้การตีความ การวิเคราะห์ หรือเอาบริบทต่างๆ มาประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวเรื่องมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาการวิจารณ์มันดีขึ้น ฉะนั้นในค่ายจะมีเรื่องของการคิด การเขียน ถ่ายทอดเป็นในแง่ของความคิด การนำเสนอ รวมทั้งการเลือกใช้ภาษา