รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 และ 2564

ศุกร์ ๓๐ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๒๕

"เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน จากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัว ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2564 ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี"

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 และ 2564 ว่า "เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่า จะหดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -8.2 ถึง -7.2) หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) และการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 2) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน นำโดยกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3) การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน ภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5) และร้อยละ -9.8 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -10.3 ถึง -9.3) ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -8.3 ถึง -7.3) ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ -11.0 ต่อปี

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประกอบไปด้วย โครงการ "เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" โครงการ "คนละครึ่ง" และมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) และ 10.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.0 ถึง 11.0) ตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ -0.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.4 ถึง -0.4) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3 ของ GDP)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 ถึง 6.5) ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) และการใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ? 1.5) ปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ"

ทั้งนี้ รองโฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในประเทศหลายประเทศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น จากการดำเนินมาตรการการเงินการคลังของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับเข้มแข็ง ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO