จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยมีหลายสาขาวิชาติดอันดับที่ดีที่สุดในประเทศไทย ตามการจัดอันดับของ THE World University Rankings by Subject 2021
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 Times Higher Education (THE) ประกาศผลการจัดอันดับ THE World University Rankings by Subject 2021 ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ครองอันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง โดยมีคะแนน ในภาพรวมดีขึ้น
จากผลการจัดอันดับรายสาขาวิชาพบว่า มี 4 สาขาวิชาของจุฬาฯ ได้ถูกจัดอันดับดีที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ สาขา Business and Economics สาขา Computer Science สาขา Education สาขา Social Science นอกจากนี้ ยังมีหลายสาขาวิชาที่ได้รับการจัดเข้าสู่อันดับโลก ได้แก่ สาขา Clinical and Health สาขา Engineering and Technology สาขา Physical Science และสาขา Life Science อีกด้วย
ผลการจัดอันดับดังกล่าวแสดงถึงความก้าวหน้า เข้มแข็งของศาสตร์ที่หลากหลายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ครอบคลุมทั้งในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสังคมศาสตร์
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าเส้นทางที่จุฬาฯ ได้เลือกในการพัฒนาบัณฑิตและผลงานวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้นได้มาอย่างถูกทางแล้ว วันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในอดีตหลายคนอาจคิดว่าจุฬาฯ เป็นเพียงแหล่งความรู้ของสังคม แต่วันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนไป โดยเพิ่มเติมมาอีก 3 บทบาท คือ บทบาทที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยต้องเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ และนำความรู้ไปทดลองใช้งานจริงกับสังคมภายนอก ซึ่งจะเกิดการพัฒนาความคิดของนิสิตและอาจารย์ที่ดีมากยิ่งขึ้น บทบาทที่สอง มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งความรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคมภายนอก ศิษย์เก่า สังคมไทย และสังคมนานาชาติ การที่เราเชื่อมโยงกับคนอื่นทำให้เราไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้สำเร็จได้เร็วมากยิ่งขึ้น และบทบาทที่สาม ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุด คือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งผลิตผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมและงานวิจัยใหม่ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และสังคม เพื่อรับใช้สังคม (Impactful Research and Innovation) และต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainability)
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Times Higher Education เป็นอีกหนึ่งสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ (Methodology) แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การสอน (สภาพแวดล้อมการเรียนรู้) การวิจัย (ปริมาณรายได้และชื่อเสียง) การอ้างอิง (อิทธิพลการวิจัย) มุมมองของต่างประเทศ (บุคลากร นิสิตนักศึกษา และนักวิจัย) และรายได้ขององค์กร (การถ่ายทอดความรู้) ซึ่งช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานและโอกาสในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยตามภารกิจสำคัญในเวทีโลก