สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองปากพนัง คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ลงพื้นที่ชุมชนผู้สูงวัยภาคใต้ จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อข่าวปลอมด้านสุขภาพ ณ หอประชุมเทศบาลเมืองปากพนัง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา
อาจารย์ ธนภร เจริญธัญสกุล หัวหน้าสาขาวิชานิเทศศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงความสำคัญและที่มาของโครงการนี้ว่า "ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลสื่อสารส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วทางสื่อออนไลน์ทั้งจากนักข่าวและจากคนทั่วไป ความเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็วนี้ ทำให้บางครั้งขาดการตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงบางครั้งอาจจะมีผู้จงใจส่งข้อมูลข่าวสารเพื่อหลอกลวง หรือหวังผลประโยชน์ให้ผู้อ่านคล้อยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข่าวสารที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ จะมีให้พบเห็นในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าวสารเกี่ยวกับโรค การรักษาโรค และการมุ่งขายสินค้าหรือ สมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ที่สร้างความเข้าใจผิด กลุ่มที่น่ากังวลใจและทางโครงการฯ ให้ความสำคัญที่จะสร้างทักษะการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในครั้งนี้คือกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและให้ความสำคัญกับข่าวสารด้านสุขภาพ สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้ความรู้กับกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำให้นักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มเติมความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อได้อีกด้วย"
กิจกรรมครั้งนี้ประกอบไปด้วยการให้ความรู้ การเล่นเกมทดสอบความรู้ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สูงวัยของชุมชน จำนวน 65 คน นางประจวบ อุไรรัตน์ ประธานกลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลเมืองปากพนัง กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมเรื่องการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารให้กับผู้สูงวัยในชุมชนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ และทำให้ผู้สูงวัยได้ระมัดระวังในการรับข้อมูลข่าวสาร หรือฉุกคิดมากขึ้นเมื่อเจอข้อความต่างๆ ที่อาจเป็นการหลอกลวงให้ซื้อสินค้าได้ และหากมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุอีก ทางเทศบาลเมืองปากพนังก็ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่"
ผลจากการจัดกิจกรรม พบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความเข้าใจเกี่ยวกับคำที่ควรระมัดระวังในข่าวปลอมด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการตอบคำถามหลังการอบรมได้ถูก 56 คน จาก 65 คน ซึ่งแตกต่างจากการตอบคำถามก่อนการอบรมที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ตอบว่าไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม และมีความตั้งใจที่จะตรวจสอบข่าวปลอมในอนาคตต่อไป คะแนนเฉลี่ย 8.77 จาก 10 คะแนน
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Social Lab คืนความรู้มิติตรวจสอบข่าวปลอมสู่ชุมชน ของโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร หรือโครงการเช็กให้รู้ โดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ดำเนินการวิจัยพัฒนามิติตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยการตรวจสอบโครงสร้างข่าว 6 ด้าน ได้แก่ มิติด้านองค์ประกอบของข่าว มิติบริบท มิติด้านเนื้อหา มิติด้านภาษา มิติด้านการโฆษณา และมิติด้านสุขภาพ ร่วมกับภาคีนักวิชาการ ทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook เพจเช็กให้รู้ และพบกับกิจกรรมครั้งต่อไปที่ จังหวัดร้อยเอ็ด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (วันที่ 5 พฤศจิกายน) กรุงเทพมหานคร โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (วันที่ 6 พฤศจิกายน) จังหวัดชลบุรี โดยมหาวิยาลัยบูรพา (วันที่ 9 พฤศจิกายน) และจังหวัดเชียงใหม่โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้