มูลนิธิสร้างรอยยิ้มชวนร่วมบริจาคการกุศล เพื่อปฏิบัติการ "คืนรอยยิ้ม = คืนชีวิต" เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วไทย

จันทร์ ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๑๓:๒๓

ทพญ.ยุพเรศ นิมกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้จัดทำภาพยนตร์สั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์และการระดมทุนการกุศลเพื่อปฏิบัติการ "คืนรอยยิ้ม = คืนชีวิต" ซึ่งเป็นภารกิจหลักของมูลนิธิฯ ในโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อทำการผ่าตัดและดูแลรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายการรักษาในปี 2564 จำนวนกว่า 800 ราย ผู้ร่วมสนับสนุนสามารถบริจาคเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต เลขที่ 059-285581-4

ทพญ.ยุพเรศ ให้ข้อมูลว่า ทารกแรกเกิดมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เพราะเกิดความผิดปกติในพัฒนาการของทารกในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม หรือ สิ่งแวดล้อม เช่น ขณะตั้งครรภ์มารดาเจ็บป่วย ขาดสารอาหาร ใช้ยาเสพติดหรือได้รับยาบางชนิดที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยสถิติในประเทศไทยมีเด็กทารก 1 ใน 450 รายเกิดมามีภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ ทั้งสองอย่าง หรือประมาณ 1,500 คนต่อปี ไม่รวมเด็กทารกที่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือไม่มีสัญชาติไทย การให้การรักษาต้องใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา และเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง ในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้กินได้ หายใจได้ พูดได้ และลดความผิดปกติอันเกิดจากความบกพร่องทางพัฒนาการ

ในแต่ละปีจำนวนผู้ป่วยด้อยโอกาสที่เข้ารับการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินบริจาคสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯ โดยในปี 2562 มูลนิธิฯ ได้ให้การผ่าตัดรักษาไปแล้วจำนวน 758 ราย ด้วยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 4 ครั้ง และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 4 โรงพยาบาล ในปี 2563 เราเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ประสบความยากลำบาก แต่เราก็ยังคงเพียรพยายามสานต่อพันธกิจในการให้การรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้าแก่ผู่ป่วยยากไร้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไปเป็นจำนวน 421 ราย โดยมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 ครั้ง และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

"เราพยายามเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจและสร้างความร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เหล่านี้ ซึ่งเกิดมามีใบหน้าไม่ครบ มีความพิการของอวัยวะในช่องปาก จมูก และทางเดินหายใจ มีความทุกข์ทั้งทางกาย อารมณ์ จิตใจ และขาดโอกาสทางสังคม การรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ต้องใช้การผ่าตัดหลายครั้ง ฝึกพูด การรักษาทางทันตกรรมเพื่อให้มีฟันเคี้ยวอาหาร โดยต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงวัย 18 ปี จากทีมแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา กรณีของน้องบอมในภาพยนต์สั้น กว่าจะถึงวันนี้ได้รับการผ่าตัดมาแล้วถึง 7 ครั้ง การผ่าตัดเย็บปากแหว่งในเด็กแรกเกิด เป็นเพียงก้าวแรกในการรักษาอันยาวนาน ผู้ป่วยยังต้องเข้ารับการผ่าตัดปิดช่องโหว่ระหว่างปากกับจมูก เติมกระดูกขากรรไกรที่โหว่เพื่อให้ฟันขึ้น และผ่าตัดขากรรไกรที่มีพัฒนาการบกพร่อง ทั้งหมดนี้เพื่อลดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ป่วยด้อยโอกาสจำนวนมากขาดกำลังทรัพย์และไม่อาจเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เต็มที่ การทำงานของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มส่วนหนึ่งจึงเป็นงานออกหน่วยแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่ ไปในพื้นที่ห่างไกล โดยมีอาสาสมัครที่เป็นแพทย์สาขาต่างๆ ทันตแพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นคณะไปทำงานรักษาผู้ป่วยด้วยกัน ภารกิจของเราสำเร็จได้ในแต่ละปีด้วยเงินบริจาคเพื่อการกุศลจากคนไทยผู้ใจบุญทุกๆ ท่าน" ทพญ.ยุพเรศ กล่าว

สำหรับภาพยนตร์สั้นชุดนี้ได้รับความร่วมมือจาก "บอม - โสภณ คำรินทร์" เขาเป็นคนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้เกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ชีวิตจริงของบอมในภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากทางกาย และจิตใจ อันยาวนาน ของผู้ป่วยที่เกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ที่มักเติบโตมากับความรู้สึกที่ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากเพื่อนและสังคม ซึ่งเห็นเขาเป็นตัวประหลาด และขาดปัญญา เพราะมีใบหน้าพิการ และพูดไม่ชัดเหมือนคนทั่วไป

มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ได้ให้ความช่วยเหลือในการรักษาน้องบอม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี รวมการผ่าตัด 7 ครั้ง ที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตที่ท้อแท้ เป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยพลังและความหวัง เมื่อเขาหายใจได้ กินได้ พูดได้ มีเพื่อน สามารถเรียนจบจากวิทยาลัยการอาชีพ และได้ทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ตามความไฝ่ฝัน

ปัจจุบัน "บอม" อายุ 22 ปี เขาได้ชีวิตใหม่พร้อมรอยยิ้มที่ช่วยเปิดประตูโอกาสที่เกือบจะถูกปิดตายมาตลอดชีวิต ทำให้ได้พัฒนาตนเอง พัฒนาศักยภาพ ให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างดี เป็นพลังของประเทศชาติ

นอกเหนือจากการใช้สื่อภาพยนตร์สั้นชุดนี้เพื่อการระดมทุนสำหรับพันธกิจในปี 2564 มูลนิธิฯ ยังมีอาสาสมัครคนดังอีก 3 ท่าน มาเป็นทูตสร้างรอยยิ้ม (Smile Ambassador) ของเรา ได้แก่ ออม ?สุชาร์ มานะยิ่ง, คชา - นนทนันท์ อัญชุลีประดิษฐ์ และ เทย่า โรเจอร์ส ซึ่งจะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในท้องถิ่นห่างไกล

สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบที่ทำให้เงินบริจาคแก่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม มีจำนวนน้อยลง อาจไม่เพียงพอต่อการให้การรักษาเด็กๆ ที่ยังรอรับการรักษาอีกจำนวนมาก ในปี 2564 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย วางแผนโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 3 ภาค รวม 4 จังหวัด และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 5 โรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายการรักษาประมาณ 800 ราย ภารกิจของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มในการคืนรอยยิ้ม เป็นการคืนชีวิตให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติ

มูลนิธิสร้างรอยยิ้มจึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมบริจาคเพื่อการกุศลสนับสนุนพันธกิจของมูลนิธิฯ "คืนรอยยิ้ม คืนชีวิต" เพื่อให้การรักษาให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ

ร่วมบริจาคเพื่อการกุศลสนับสนุนมูลนิธิสร้างรอยยิ้มได้ที่บัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต เลขที่ 059-285581-4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ