ดีอีเอส โชว์ผลงานพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะภูเก็ตหนุนเปิดเมือง-ปลอดภัยจากโควิด

จันทร์ ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๑๕:๕๓

"พุทธิพงษ์" นำคณะผู้บริหารดีอีเอส พร้อมหน่วยงานในสังกัด ติดตามผลงานการพัฒนาระบบจัดการท่าเรืออัจฉริยะ จ.ภูเก็ต นำร่องตอบโจทย์การใช้งานเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด เพิ่มความมั่นใจการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ควบคู่การตรวจคัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ คณะผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ในโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย. 63 ที่ จ.ภูเก็ต

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบท่าเทียบเรืออ่าวปอ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการพัฒนาจัดการท่าเรือ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อให้จังหวัดสามารถทราบข้อมูลและจำนวนผู้โดยสารในเรือแต่ละลำ เก็บภาพ VDO ของผู้โดยสาร พร้อมการคัดกรองอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนลงเรือ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด

ทั้งนี้ ระบบการจัดการท่าเรืออัจฉริยะในโครงการต้นแบบดังกล่าว ประกอบไปด้วย

  1. ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเลกลางผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ หรือเจ้าของเรือ ลงทะเบียนรายชื่อผู้โดยสาร ลูกเรือ กัปตัน ชื่อเรือ พร้อมเส้นทางการเดินทางของเรือ ก่อนเรือออกในแต่ละวัน พร้อมระบบรายงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
  2. ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ คือ ประตูอัตโนมัติ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้าและวัดอุณหภูมิ และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ พร้อมกล้องจับใบหน้า เครื่องอ่านบัตรประชาชน และพาสปอร์ต 3. ระบบ Wristbands ติดตามตัวบุคคลและร้องขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย และ 4. เรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อเป็นต้นแบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุด One Stop Service บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อการพัฒนาการบริหารงานท่าเทียบเรือในอนาคต

"แพลตฟอร์มนี้ได้รับการออกแบบในลักษณะ One Stop Service เช่น การเชื่อมต่อข้อมูลด้านประกันภัยแบบอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถนำสายรัดข้อมือไปยืนยันการเคลมประกันกับโรงพยาบาลได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องโทรติดต่อประกันภัย หรือนำเอกสารยืนยันตัวต่างๆ เข้าไปยื่นก่อนการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาได้เลย เป็นลดขั้นตอน ลดระยะเวลาไปอย่างมาก หรือจะเป็นการส่งรายชื่อนักท่องเที่ยวทุกคน ให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าก่อนการออกเดินทาง เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งแพลตฟอร์มรองรับการอัปโหลดข้อมูลจากบริษัทนำเที่ยว จากนั้นแพลตฟอร์มจะทำการส่งข้อมูลเหล่านั้น ให้กับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และสามารถประมวลผล และสรุปผลได้โดยทันที" นายพุทธิพงษ์กล่าว

โดยในโอกาสนี้ เขาได้มอบข้อเสนอแนะว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ จะทำให้ท่าเทียบเรือให้มีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการจะทำให้เพิ่มขั้นตอนการดำเนินงาน และท่าเรือ/บริษัทนำเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงอาจจะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการขยายผลในท่าเรืออื่นๆ หรือเกิดการย้ายท่าเรือของบริษัทนำเที่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงในกระบวนการในส่วนนี้ ทำให้เกิดช่องโหว่ของการดูแลความปลอดภัยทางทะเล

ดังนั้น ควรมีการกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม และขยายผลให้มีการดำเนินการทุกๆ ท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

"ผมจึงมีคำสั่งการให้ดีป้า ประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลในทุกๆ ท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ต ปิดช่องโหว่ข้างต้น เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว" นายพุทธิพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบท่าเทียบเรืออ่าวปอ จะมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มีความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้น ภายหลังมีมาตรการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูเก็ต ซึ่งพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ