หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
เจาะทุนวิจัยเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม 7 ด้าน ของ บพข. องค์กรวิจัยน้องใหม่ ที่เข้ามาทำหน้าที่ 'บริหารจัดการงานวิจัย' ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเน้นเสริมสมรรถนะ SMEs และภาคเอกชนเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจสู่สากล
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการนโยบายกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) เปิดเผยภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศว่า บพข. เป็นหน่วยจัดการทุนวิจัยที่จะช่วยให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ได้จริง ลดความเสี่ยงของภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโจทย์วิจัยจำเป็นจะต้องมาจากผู้ใช้ประโยชน์จริง คือ บริษัทเอกชน หรือผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ และเมื่อได้โจทย์ที่จัดเจนแล้ว บพข. จะช่วยหาคำตอบโดยพิจารณาจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมและดำเนินการสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง นำมาต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
"ปัญหาของงานวิจัยไทยที่ผ่านมา คือ เราเน้นให้ทุนวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ แล้วจบอยู่ตรงนั้น ไม่มีการนำไปใช้งานต่อในเชิงพาณิชย์หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย จนกลายเป็นที่มาของคำว่า 'งานวิจัยบนหิ้ง' ซึ่งหมายความว่า จริง ๆ ประเทศไทยไม่ได้ขาดนักวิจัย ไม่ได้ขาดจุดเริ่มต้นที่ดีของเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาด หรือ อาจเรียกว่า ไม่เคยทำ คือ 'การบริหารงานวิจัย' เพื่อนำของที่อยู่บนหิ้งลงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะจากงานวิจัยในห้องปฎิบัติการ ต้องมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน กว่างานวิจัยนั้นจะไปถึงกระบวนการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมันเป็นช่องว่างที่ทางผู้ประกอบการไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงนี้"
รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า ทุนวิจัยของ บพข. เป็นโอกาสใหม่ที่นักวิจัยไทยจะสามารถผลักดันงานวิจัยของตัวเองไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาร่วมงานกับ บพข. เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยเพื่อตอบสนองธุรกิจของตัวเองอย่างตรงจุด โดย บพข. ซึ่งเป็น Platform ของภาครัฐ จะเข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่มาจากต้องการของภาคเอกชนและที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยงบสนับสนุนจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเทคโนโลยี งานวิจัยที่จะถูกส่งต่อไปยังภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการในการลงทุนด้าน R&D เป็นการปิดช่องว่างและเพิ่มโอกาสให้งานวิจัยไทยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด
ผอ.บพข. กล่าวถึงศักยภาพของนักวิจัยที่สอดคล้องกับทุนวิจัยประเภทนี้ว่า จะต้องเข้าใจกระบวนการผลิต เนื่องจากทุนวิจัยของเราเน้นเรื่องการผลิตเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะต้องทำให้ผ่านมาตรฐานหลายอย่าง อย่างไรก็ตามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บพข.ให้ทุนที่ไปสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศในเชิงเศรษฐกิจบ้างแล้ว ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมเรื่องผลกระทางสังคม สิ่งแวดล้อม วันนี้จึงอยากเชิญชวนนักวิจัยที่มุ่งมั่นทจะพัฒนาประเทศไปด้วยกันเข้ามาร่วมงานกับ บพข. โดย บพข. มีกลุ่มทุนวิจัย 7 กลุ่มที่รอให้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมงาน ได้แก่ 1.ทุนภาคเกษตรกรและกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูง 2. ทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3.กลุ่มทุนวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ 4.กลุ่มทุนวิจัยด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 5.กลุ่มทุนด้านเทคโนโลยีดิจิตอล 6. กลุ่มทุนด้านเศษฐกิจหมุนเวียน และ 7. กลุ่มทุนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า
"เราอยากเชิญชวนให้ทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย รวมถึงนักวิจัยที่ทำงานวิจัยสำเร็จแล้ว เข้ามาช่วยกันยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน บพข. อยากเห็นภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมากขึ้น และอยากเห็นงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถนำความรู้ไปพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม"