นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การส่งออก โดยการเชิญโรงสี และผู้ที่เกี่ยวข้อง มาประชุมร่วมกันกับผู้ปลูกข้าว โดยมีการกำหนดประเภทข้าวออกมา 5 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าวพื้นแข็ง 4.ข้าวพื้นนุ่ม 5.ข้าวเหนียวอย่างไรก็ตามยอมรับว่าในขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว มีราคาตกลงเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันตลาดมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกข้าวพื้นนุ่มในประเทศไทยนั้น กลับมีเพียงแค่ 300,000 ไร่ โดยประมาณ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้ไม่สามารถนำไปแข่งขันสู้กับตลาดต่างประเทศได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้เริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการลดพื้นที่การปลูกข้าวแข็งลงและหันมาเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวนุ่มมากขึ้นตามที่ผู้ส่งออกต้องการ
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า กรมการข้าวมีการวิจัยข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ใหม่ คือข้าวพันธุ์กข87 ที่มีการเริ่มทดสอบแล้วให้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถให้ผลผลิตได้มากถึง 1,200 กิโลกรัม/ไร่ มีความต้านทานโรคแมลงโดยได้ทำการทดสอบและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้กรมการข้าวได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าว พันธุ์กข87 อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งคาดว่าพันธุ์ข้าวดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตัวเลขการส่งออกข้าวไทยให้มีปริมาณ
ที่สูงขึ้น
นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สำหรับในวันนี้กรมการข้าวได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าวจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กข85 กข87 และขาวเจ๊กชัยนาท 4 โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่น ดังนี้
ข้าวเจ้าพันธุ์กข85 เป็นชนิดข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อมิโลสสูง เป็นข้าวชนิดแข็ง ผลผลิตเฉลี่ย 826 กิโลกรัม/ไร่ ลักษณะเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ข้าวเจ้าพันธุ์กข87 มีปริมาณอมิโลสต่ำ ให้ผลผลิต 734 กิโลกรัม/ไร่ แต่มีศักยภาพสูงสุดที่ให้ผลผลิตได้ถึง 1,500 กิโลกรัม/ไร่ หุงสุกนุ่ม ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคขอบใบแห้งและโรคไหม้
ข้าวขาวเจ๊กชัยนาท4 ผลผลิต/ไร่โดยเฉลี่ยสูงกว่าข้าวหอมมะลิ เมล็ดข้าวมีความยาวมาก เป็นข้าวไว ต่อช่วงแสง มีท้องไข่น้อย นายมนัส กล่าว
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว เปิดเผยว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ดำเนินการประสานงานกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการทดลองนำข้าวหอมมะลิไปทำการทดสอบผ่านรังสีไอออนระดับต่ำ ผลปรากฎว่าสามารถแตกเมล็ดพันธุ์ออกมาเป็นพันธุ์ใหม่ได้ โดยให้ผลผลิตมากถึง 1,500 กก./ไร่ ให้ความหอมที่มากขึ้น และสามารถปลูกได้ทั้งปี จึงเห็นสมควรให้กรมการข้าวนำมาทดลองปลูก โดยในเบื้องต้นกองเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ดำเนินการประสานไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นการเบื้องต้นแล้ว แต่ได้รับการแจ้งจากสถาบันดังกล่าวว่า ยังไม่สามารถลงนามความร่วมมือ (MOU) กันได้ในขณะนี้ เนื่องจากทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะขอดำเนินการทดสอบต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นเมื่อผลการทำสอบมีความแน่ชัดแล้ว ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะดำเนินการจัดส่งเมล็ดพันธุ์ให้แก่กรมการข้าวเพื่อเป็นตัวอย่างในการทดลองปลูก จำนวน 20 กิโลกรัม ทั้งนี้กรมการข้าวจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยเร็วที่สุด