สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 65 ที่ 24,400 ลบ.

ศุกร์ ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๑๑:๔๙

สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 65 ที่ 24,400 ลบ. เพิ่มขึ้น 22.50 % จากปี 64 ตั้ง "ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์" ประธานพิจารณากองทุน พร้อมเห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ขณะเดียวกันมีมติให้มี "วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA" ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการและดูแลงานวิชาการสภานโยบาย จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุม

นายดอน กล่าวว่า การประชุมสภานโยบายครั้งที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ สอวช. ไประดมสมองภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมาวิเคราะห์ จัดทำแนวทางการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนควบคู่กับการจัดการศึกษาปกติ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต ดังนั้น ทักษะ จึงจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคตให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ทักษะด้านภาษา ด้านการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ ความอดทน และความสามารถในการปรับตัว เป็นต้น นอกจากการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ควรมีการเพิ่มเติมคุณลักษณะที่พึงประสงค์บางประการสำหรับสังคมไทย อาทิ คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ ความมีจิตสาธารณะ ระเบียบ วินัย ความมีสมาธิ และภูมิคุ้มกันทางใจ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคมด้วย ซึ่ง สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายฯ ได้รายงานความก้าวหน้าในประเด็นดังกล่าว โดยได้ดำเนินการศึกษา รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียน นักศึกษา ครู และจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และได้จัดทำข้อเสนอแนะให้มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับเด็กและเยาวชนควบคู่กับการจัดการศึกษาปกติ ซึ่งประกอบไปด้วยด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบนิเวศให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นวิถีแห่งชีวิต การพัฒนากระบวนการหรือโมเดลทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมและมีแรงบันดาลใจ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เล่นในระบบและส่งเสริมการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างเด็ก ครู ชุมชน ท้องถิ่น เอกชน อปท. เป็นต้น การขยายผลแนวปฏิบัติที่ดี การปรับระบบบริหารจัดการให้คล่องตัว และกระจายอำนาจระบบการศึกษามากขึ้น การพัฒนาและใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีและสื่อเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และการพัฒนานโยบายมหภาคที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนาต้นแบบ และทดลองขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป

ด้าน ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับงบประมาณ ววน. เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับจำนวน 19,917 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้น 22.50 % หรือ 4,483 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณระหว่างทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ต่อ ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) อยู่ที่ 60 : 40 และได้กำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เช่น มีการจัดสรรงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) ต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-year Budgeting) มีการพิจารณาผลการทำงานแต่ละแพลตฟอร์มของปีที่ผ่านมาและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ และแนวทางการบริหารงบประมาณดังกล่าว โดยฝ่ายเลขานุการจะดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ได้มีมติแต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคำของบประมาณของกองทุน

"ภายใต้กรอบงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มีแผนงานต่อเนื่องใน 4 แพลตฟอร์ม และโปรแกรมการปฏิรูประบบ ววน. ตามแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563 - 2565 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งประกอบด้วย แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และยังคงเพิ่มโปรแกรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยมีตัวอย่างแผนงานใหม่ที่น่าสนใจ เช่น 1. แผนงานธรรมาภิบาลการบริหารจัดการภาครัฐและลดคอรัปชั่น 2. แผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3. แผนงานด้านสุวรรณภูมิศึกษา 4.แผนงานด้านการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และ 5. แผนงานด้าน Open Society ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบงบประมาณมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และมุ่งผลลัพธ์ในการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ทั้งเยาวชนและประชาชนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย แรงงานและผู้ประกอบการในอนาคต บัณฑิต Smart Farmers SMEs ผู้ประกอบการ Startups วิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชน ภาคครัวเรือน ตลอดจนชุมชน เป็นต้น" รมว.อว. กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาหารือและได้มีมติเห็นชอบในหลักการพร้อมได้มอบหมายให้ อว. ดำเนินการ คือ โครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ที่ อว. นำเสนอให้จัดตั้งขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวม การสร้างเทคนิค องค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดย TASSHA จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ และนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลกต่อไป

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สอวช. กล่าวว่า ในที่ประชุมสภานโยบายฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยแผนดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดย อว. และได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการในที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ประชุมสภานโยบายฯ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีกทั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้แผนดังกล่าวต่อประชาคมอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แผนฯดังกล่าวมีวิสัยทัศน์คือ "อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน" ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) โดยแผนนี้จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เกิดการพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และส่งเสริมความโปร่งใสในภาครัฐให้ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการดำเนินงานต่อจากนี้ จะมีการถ่ายทอดแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา และจะมีการใช้แผนดังกล่าวเป็นกรอบกำหนดทิศทางของนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติในด้านการอุดมศึกษา และใช้จัดทำงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และนำไปสู่การจัดทำกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผน ทั้งนี้ คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาจะติดตามประเมินผลตามเป้าหมายและทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในแผน เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนเกิดประสิทธิผลต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO