ในกิจกรรมครั้งนี้ อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อที่จะได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำ การศึกษาเส้นทางธรรมชาติเพื่อทำความรู้จักกับโครงสร้างของป่าไม้ต้นน้ำ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาและแนวทางแห่งความสำเร็จ การลอกลำเหมือง การทำประปาภูเขาซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น รวมถึงการปลูกต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการผืนป่าต้นน้ำ เช่น ต้นไผ่ และหญ้าแฝก
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า "นอกจากวิกฤตโควิด-19 ในปีนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ วิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย ไปจนถึงเกิดการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ในฐานะที่กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของไทยซึ่งใช้น้ำเป็นเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต มีความตั้งใจในการสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยผสานพลังคนรุ่นใหม่จากทีมอาสาสมัคร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ มาลงมือดูแลต้นน้ำและเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากบ้านตุ่นโมเดล ภายใต้การสนับสนุนจากพันธมิตรของเราคือ อพ. และ สสน. เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนปลายน้ำ นำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรต้นน้ำ และต่อยอดการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป"
ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญ โดยมีต้นน้ำทอดยาวจากยอดดอยหลวง ผ่านที่ลุ่มเกษตรกรรม จนถึงกว๊านพะเยา อันเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทยและเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่เป็นชีวิตของคนพะเยา เพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำประปา และยังเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาหลากชนิด ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำอิงไปรวมตัวกับแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ในอดีตลำห้วยตุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมรวมถึงน้ำป่าหลากในฤดูฝน จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้ลำห้วยตุ่นกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถทำเกษตรกรรมและมีน้ำใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยมีชุมชนและเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากลำห้วยตุ่นถึง 11 หมู่บ้าน หรือ 1,683 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 5,462 คน นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลความสำเร็จสู่ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอื่นๆ อีกด้วย
อีกไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ ประกอบด้วย "แตปากฉลาม" เครื่องผันน้ำไปยังที่สูงโดยไม่ใช้พลังงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนที่สูง โดยมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ตั้งกั้นบริเวณรอยต่อของลำเหมืองสองสาย เมื่อกระแสน้ำพัดมาก็จะมีแรงดันส่งน้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังที่สูงกว่าได้ นอกจากนี้ ยังมี "ต๊างนา" ร่องน้ำที่ใช้ในการลำเลียงน้ำเข้านา และ "ยอยน้ำ" ร่องน้ำที่ใช้ทยอยน้ำออกจากนา
ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า "มูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ต่างมีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการรวมพลังระหว่างชุมชน อพ. สสน. และกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ตำบลบ้านตุ่นจะได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป"
ในกิจกรรมครั้งนี้ คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมเคียงข้างอาสาสมัคร TCP Spirit เป็นปีที่ 3 กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า "การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากต้นตอของปัญหา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำเช่นกัน การเป็น TCP Spirit Brand Ambassador ถึง 3 ปีทำให้ผมได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่พัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมลงมือแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับทุกคน และโอกาสที่ได้ส่งต่อพลังความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับน้องๆ อาสาสมัคร ซึ่งจะเติบโตเป็นพลังแห่งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในอนาคตต่อไป"
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจ TCP
กลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วยบริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีพนักงานกว่า 5,000 คน ในประเทศไทยและทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของ กลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์รวม 8 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน คือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริ้งค์ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งก์ คือ แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม