ครั้งแรกในเอเชีย ม.มหิดลสร้างนวัตกรรม " PM2.5 Footprint Calculator" ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโลก

ศุกร์ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๑๗:๐๑

วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย" ตามที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) มีพระราชดำรัสห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย

"จริยธรรมสิ่งแวดล้อม" คือ หลักพึงปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างมีดุลยภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับหลักจริยธรรมการวิจัย (Research Integrity) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและต่อยอดผลวิจัยให้เกิดคุณูปการสู่มวลมนุษยชาติได้ต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยที่มีคุณค่าตามหลักจริยธรรมการวิจัย (Research Integrity) ส่งผลต่อคะแนนในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดยจะต้องมี "ทิศทางที่เป็นบวกในสิ่งที่ถูกต้อง" และ "ทิศทางเป็นลบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง" ซึ่งจะส่งผลกระทบในการอ้างอิง (Citation) เพื่อการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการประกาศมอบทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่นโยบายระดับประเทศ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น 1 ใน 5 ผู้วิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนดังกล่าว จากโครงการ "การเสริมสร้างความตระหนักรู้และการออกแบบนโยบายเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ และต้นทุนทางสุขภาพของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการขนส่งผู้โดยสารในประเทศไทย"

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดแข็งด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งในการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องฝุ่น PM2.5 จะเห็นได้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความแตกต่างตรงที่เรามีการวิจัยถึง "ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพมนุษย์" ซึ่งจะสามารถช่วยชี้นำสังคมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเรามุ่งเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" หรือ "Wisdom of the Land" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการขับเคลื่อนงานวิจัยให้ส่งผลกระทบ (Impact) ที่ตอบโจทย์ในระดับนโยบายของประเทศและขยายผลสู่ระดับสากลต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา ผู้วิจัย กล่าวว่า ในการจะทำให้งานวิจัยได้รับความเชื่อมั่นจะต้องมีผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสารทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิด Impact หรือผลกระทบที่เป็นมาตรฐานต่อไป โดยโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนนี้ เป็นโครงการที่มีความร่วมมือในระดับนานาชาติจาก Technical University of Denmark (DTU) ซึ่งเป็นสถาบันโพลีเทคนิคแห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก และได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของสถาบันวิศวกรรมชั้นนำของยุโรป และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในส่วนของ Carbon Footprint หรือ ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Water Footprint หรือ การวัดผลกระทบจากการใช้น้ำ แต่ยังไม่พบว่ามี "PM2.5 Footprint" เพื่อดูผลกระทบที่มีต่อสุขภาพมนุษย์ โดยโครงการที่เราทำขึ้นนี้จะเป็นการสร้างนวัตกรรม "PM2.5 Footprint Calculator" หรือ การคำนวณผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ตามหลักการของแนวคิดริเริ่มวัฏจักรชีวิตภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับ สมาคมพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและเคมี (UNEP/SETAC life cycle initiative) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรระดับโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินแนวโน้มที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฟสแรกจะจัดทำเป็นเว็บไซต์ และขยายผลจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในเอเชีย

รองศาสตราจารย์ ดร.ตระการ ประภัสพงษา อธิบายว่า ฝุ่น PM2.5 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นนี้จะดูการไหลของมลพิษ ในเบื้องต้นจะศึกษาข้อมูลจากการขนส่งผู้โดยสารในประเทศไทย แล้วดูผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เป็นจำนวน "ปีสุขภาวะที่สูญเสีย" หรือ การวัดสถานะทางสุขภาพของประชากรแบบองค์รวมว่าสูญเสียไปเท่าใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งยิ่งมากยิ่งส่งผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบมากกว่าเขตต่างจังหวัด อย่างไรก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะฝุ่น PM2.5 ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครจะพบมากในช่วงที่อากาศปิดในช่วงฤดูหนาวซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ในการทำวิจัยได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิจาก กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้นักศึกษาปริญญาโทและเอกหลักสูตรนานาชาติของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนประเมินวัฏจักรชีวิต จากนั้นจะร่วมกับ ศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศแห่งประเทศไทย (TAQM) เพื่อกระจายข่าวสาร ข้อมูล ตลอดจนหาความร่วมมือ และระดมความคิดเห็นต่อไป

ซึ่งการวิจัยจะไม่ใช่เพียงแค่ "Research for Research" แต่เป็น "Research to Impact" หรือ "Research for Implementation" ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อหวังผลกระทบที่ตอบโจทย์ โดยจะมีการต่อยอดกับภาคเอกชนเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้เกิด "การตระหนักรู้" แต่หวังผลที่จะผลักดันให้เกิด "นโยบายที่ใช้ได้จริง" ในระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ