วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดกิจกรรมสาธิตการทำงานระบบอัตโนมัติด้วยเครื่องมือวัดและหุ่นยนต์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่าง 2 ประเทศ โดยมี H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย Mr. Pierre Hagman หัวหน้าคณะผู้แทนประจำสถานเอกอัคราชทูตฯ Mr. Brumo Odermatt-Magg ประธานหอการค้าสวิส-ไทย อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนจากบริษัท Max Value Technology จำกัด ผู้แทนบริษัท Unical Works จำกัด และผู้แทนบริษัทในเครือสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จังหวัดชลบุรี
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการในประเทศไทย มีความจำเป็นจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้ทันสมัย รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้สินค้าและบริการมีคุณภาพที่ดีมีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับการผลิตของผู้ประกอบการไทยให้มีความทันสมัยตอบโจทย์ของอุตสาหกรรม 4.0 และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน
รมช. แรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ และการรับรองมาตรฐานฝีมือให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขาดแคลนแรงงานและการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่ EEC จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (สทอ.) หรือ MARA ให้เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทดสอบฝีมือแรงงาน พัฒนาหัวหน้างานและครูฝึกในโรงงาน สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนากำลังคนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามเป้าหมายที่วางไว้
การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือไตรภาคีระหว่าง สทอ. กับบริษัท Sylvac SA จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือวัดละเอียดจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บริษัท Max Value Technology จำกัด (ตัวแทนบริษัท) และบริษัท Unical Works จำกัด (ร่วมดำเนินธุรกิจกับบริษัท Sylvac SA) โดยบริษัท Sylvac SA จำกัด ให้การสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว ด้วยการให้ยืมเครื่องสแกน 2 มิติ เป็นเครื่องวัดขนาดชิ้นงานด้วยแสง คุณภาพสูง ไว้สำหรับฝึกอบรมแก่แรงงานในพื้นที่ EEC นอกจากนี้ ยังร่วมกันจัดทำหลักสูตรการใช้เครื่องมือวัด ตรวจสอบชิ้นงานด้วยระบบอัตโนมัติและการลำเลียงแบบ 4.0 เพื่อนำมาใช้ฝึกอบรมอีกด้วย
"กิจกรรมในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการเสริมสร้างทักษะให้แก่กำลังแรงงานในพื้นที่ EEC ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงานให้แก่สถานประกอบกิจการแล้ว ทักษะที่แรงงานได้รับก็จะเป็นทุนมนุษย์ในการใช้ต่อยอดสำหรับการทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต่อไป รวมถึงความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต" รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด