นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางในระยะ 1 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางแล้วกว่า 1.3 ล้านราย เป็นเงินทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาท และเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 โดยมี ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ห้องสถลสถานพิทักษ์ กยท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ผลที่ประชุมให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจในระเบียบการจ่ายเงินเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีสิทธิ์ตามโครงการฯ ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์ตามโครงการฯ ได้รับเงินโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการฯ โดยจะจ่ายเงินประกันรายได้ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564 ภายใต้กรอบงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ราคาประกันรายได้ที่โครงการตั้งไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสด ราคา 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก. การจ่ายเงินงวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 กำหนดราคายางอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน - 23 พฤศจิกายน 63 โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 52.86 บาท/กก. ชดเชย 4.14 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาท/กก. ชดเชย 3.19 บาท/กก.
ในส่วนของเกษตรกรที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 1 และมีคุณสมบัติครบถ้วน (ขึ้นทะเบียนก่อน 12 สิงหาคม 2562) เมื่อโครงการฯ ระยะที่ 2 เริ่มอนุมัติจ่ายเงินประกันรายได้ จะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีได้ทันที ส่วนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15 พฤษภาคม 2563 กยท. จะเข้าตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกยางเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคาร ธ.ก.ส. โดยเป็นบัญชีที่เป็นชื่อตนเองเท่านั้น ห้ามเป็นบัญชีเปิดร่วมหรือเปิดเพื่อบุคคลอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการโอนเงินเข้าผิดบัญชี ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
นอกจากโครงการประกันรายได้ฯ ที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว กยท. ยังเร่งผลักดันมาตรการอื่นควบคู่กันไป โดยมีโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เขตภาคเหนือ สนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางบริหารสต็อกยางของตนเอง ช่วงราคายางผันผวนและรอขายในราคาที่เหมาะสม ซึ่ง กยท. จะสนับสนุนสินเชื่อผ่านตลาดกลางยางพารา รวมถึงโครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สร้างมาตรฐานสวนยางของประเทศไทย ให้เข้าสู่ระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล เพิ่มมูลค่าไม้ยางพารา ขยายตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง และผลผลิตยางพาราไปยังตลาดต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์เกษตรกรชาวสวนยาง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 2562-2564 จำนวน 400,000 ไร่