หอการค้าไทยจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 "ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่" สรุปผลยื่นสมุดปกขาวเสนอรัฐบาล

จันทร์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๐๙:๕๘

หอการค้าไทยจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 "ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่" สรุปผลยื่นสมุดปกขาวเสนอรัฐบาล

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศและเครือข่าย ได้จัดการสัมมนาหอการค้า ทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 ขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2563 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทาง New Normal โดยกำหนด Theme การจัดงานสัมมนาฯ คือ "ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่"

โดยในการสัมมนาฯ ได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง "การบริหารน้ำสู่ความยั่งยืน" โดย ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) ซึ่งได้ฝากภาครัฐควรปรับเปลี่ยนจากการทำงานรวมศูนย์ สู่การพัฒนาในระดับหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศมีความยั่งยืนและพอเพียง รองรับการใช้น้ำในภาคเกษตรและการผลิตสินค้าเกษตร อย่างสอดคล้องกับความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ และได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง "มองโลก ดูไทย เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร: บทเรียนจาก COVID-19" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยได้บอกว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถสูงในด้านการต่อสู้กับโควิด-19 และบทเรียนการจัดการโรคระบาดในประเทศไทยเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ยังได้มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงปฏิบัติการ เพื่อเป็นการระดมความเห็นจากสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมี 2 เรื่อง โดยมุ่งเน้นในเรื่องการปรับตัวในยุควิถี New Normal ได้แก่ เรื่อง "เพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการ รับวิถี New Normal" และ เรื่อง "โลกเปลี่ยน ธุรกิจปรับ รับวิถี New Normal" เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ผลสรุปและข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ หอการค้าไทย จะจัดทำเป็นสมุดปกขาวนำเสนอให้กับรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 นั้น หอการค้าไทย ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันโปรโมทและขับเคลื่อน Happy Model เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น นอกจากนั้น รัฐบาลควรต้องเร่งพัฒนาระบบ e-Government เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ รวมทั้งการเร่งแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับสรุปผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มที่ 1 เรื่อง "เพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการ รับวิถี New Normal" ได้กำหนดกรอบการเสวนาในเรื่อง "ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย Happy Model : โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข" โดยได้มุ่งเน้นถึงแนวทางการขับเคลื่อนโมเดล ผ่าน 5 เรื่อง ได้แก่

  1. สร้างความเข้าใจในการใช้คำจำกัดความของ Wellness 4 ด้าน โดยหอการค้าไทย
    ร่วมกำหนดคำนิยามของ Happy Model เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด พร้อมกับการจัดทำ Mapping ข้อมูลของแต่ละจังหวัดภายใต้แนวคิด Happy Model เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของพื้นที่
  2. กำหนดแนวทาง พร้อมพลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามกรอบและแนวทางในการดำเนินโครงการ หอการค้าไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
    ร่วมจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานในการนำแนวคิด Happy Model
    ทั้ง 4 ด้านไปใช้ และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน Happy Model ในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด (ภายใต้กลไก กรอ.จังหวัด / กรอ. กลุ่มจังหวัด และบรรจุแผนงานโครงการและงบประมาณภายใต้ กบจ. และ กบภ.)
  3. ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม โดยหอการค้าไทยร่วมมือกับเครือข่าย ในการจัดให้มีหลักสูตรอบรม (Short Course) ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม (Re-Skill , Up-Skill)
    ในการให้ข้อมูลหรือการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ Happy Model ของพื้นที่ตนเอง อาทิ มัคคุเทศก์ พนักงานบริการ และอื่น ๆ (โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ) อีกทั้งจัดทำและ/หรือต่อยอด มาตรฐานเดิมที่มีอยู่ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน Happy Model
  4. รวบรวม Content เชื่อมโยง Digital platform โดยสร้างเรื่องราวสร้างสรรค์ (Creative Content) เกี่ยวกับ Happy Model เพื่อนำไปสื่อสารและประชาสัมพันธ์สู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการคัดเลือก Success Case Happy Model ทั้ง 4 ด้าน (กินดี-อยู่ดี-ออกกำลังกายดี-แบ่งปันสิ่งดี ๆ) มาสร้าง Content
  5. ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (Digital Platform) เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยง Platform ระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น Application TAGTHAi เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและสื่อสารที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนั้น การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทย หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศ ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ผ่านกลุ่มเครือข่ายสมาชิกหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดและ YEC สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 - เดือนมกราคม 2564 โดยมี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) จัดงาน Consumer Fair (B2C) 2) จัดกิจกรรม "สมาชิกชวนสมาชิกท่องเที่ยว" สำหรับสมาชิกหอการค้าและเครือข่าย ให้เดินทางท่องเที่ยวใน 7 พื้นที่ (ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร) และ3) เชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวและสิทธิประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์ม TAGTHAi และ TCC Connect โดยดำเนินงานตามแนวทาง Happy Model

อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและเครือข่ายเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อน Happy Model โมเดลอารมณ์ดี
มีความสุข ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนและสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งได้ในอนาคต

สำหรับสรุปผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มที่ 2 เรื่อง "เพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการ รับวิถี New Normal" ภายในกลุ่มได้สะท้อนความคิดเห็นเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ประเด็น คือ 1) การยกระดับประสิทธิภาพของแรงงาน (Labour Productivity) 2) ส่งเสริมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Platform) และ 3) การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ (Value Added) โดยหอการค้าไทยจะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ในปี 2564 ภายใต้แนวคิด "ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่" ดังนี้

  1. การยกระดับประสิทธิภาพของแรงงาน (Labour Productivity) โดยหอการค้าไทย จะดำเนินการขับเคลื่อน ได้แก่
    1. ส่งเสริมการ Reskill & Upskill ผ่านโครงการ TCC Online Training จำนวน 12 หลักสูตร ซึ่งจะเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์โควิด
    2. ขับเคลื่อนสถาบันที่ปรึกษาอัจฉริยะด้านการค้าและการลงทุน (AiTi) เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการค้า การลงทุน เฉพาะในกลุ่ม CLMVT และเป็นสถาบันให้คำแนะนำ โดยปี 2564 จะขยายผลกิจกรรม Mentor และ Mentee ให้กับสมาชิก จำนวน 6 ครั้ง และจัดทำ AiTi Moblie Application
    3. Big Brother 4 ซึ่งเป็นโครงการมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สู่ผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการใหม่ ไม่น้อยกว่า 50 ราย
  2. ส่งเสริมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Platform)
    1. TCC Digital Platform เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ของหอการค้าและระบบ Digital ของเครือข่ายหอการค้าไทย ข้อมูล Big Data ให้สามารถทำธุรกรรมผ่าน Platform กลางร่วมกัน
    2. TAG THAI โดยปี 2564 เชื่อมโยงข้อมูล 76 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และขยายผลเชื่อมโยงรองรับงานบริการ (อาทิ สวนสนุก/สปา/สนามกอล์ฟ)
  3. การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ (Value Added)
    1. โครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน โดยการขยายองค์ความรู้โมเดล 6 โมเดลไปยังสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ โมเดล "น่าน กาแฟพรีเมี่ยม" จังหวัดน่าน /โมเดล โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท จังหวัดน่าน และ โมเดล "ประมงน้ำจืดด้วยระบบไบโอฟลอค" จังหวัดสกลนคร
    2. ยกระดับเกษตรมูลค่าสูง ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกและทำเกษตรแบบเดิม โดยส่งเสริมให้เกษตรกรไทยทำการเกษตรที่มีมูลค่าสูง
    3. 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร โดยหอการค้าไทย จะสร้างโมเดลต้นแบบสหกรณ์ (Best Practice) เพื่อเป็นเครือข่ายสหกรณ์พี่เลี้ยง 5 ภาค ในปี 2564
    4. โครงการเทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและอาหารครบวงจร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการตลาด หอการค้าไทย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สมาชิกผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม
    5. โครงการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดสากล หอการค้าไทย จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น สร้างความเป็นโดดเด่นของสินค้า ควบคู่กับคุณภาพ พร้อมทั้งขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ จากการการระดมความคิดเห็นการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ รับวิถี new normal เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการ ดังนี้

  1. การกระตุ้นค่าใช้จ่ายเศรษฐกิจ อาทิ ขยายระยะเวลามาตรการโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 , ขยายระยะเวลามาตรการโครงการเที่ยวปันสุข ,เพิ่มสิทธิประโยชน์มาตรการช็อปดีมีคืน (ขยายปี 2564) และส่งเสริมมาตรการสินเชื่อ SMEs เป็นต้น
  2. การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
  3. การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐ (Ease of doing business) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ