นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว. ทส. เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 4 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2534 สืบเนื่องจากพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2532 ใจความเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่และให้ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และต่อมา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2550 ครม.ได้มีมติให้เป็น "วันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ" หรือ "วัน ทสม. แห่งชาติ" อีกวาระหนึ่ง เพื่อเชิดชู ทสม.ที่มีจิตอาสารวมพลังกันสร้างคุณความดีพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ซึ่งกระทรวงฯ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย และวัน ทสม. แห่งชาติ เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ รณรงค์ภายใต้แนวคิด "ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID - 19 ที่ทำให้เกิดการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal อาทิ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และการใช้บริการเดลิเวอรี่ที่มีมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ "ขยะ" โดยเฉพาะขยะพลาสติกในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการริเริ่มกิจกรรม/โครงการความร่วมมือต่างๆ กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เช่น โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) การทำ MOU การลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) และ MOU ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ (RECYCLABLE 100%) รวมถึง การใช้มาตรการท่องเที่ยวสวนสัตว์วิถีใหม่ หรือ "Zoo New Normal" เป็นต้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนมาร่วมกันดูแลโลกใบนี้ร่วมกัน โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง มีสติ คิดถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพแบบนิวนอร์มอล มาร่วมกันใช้ชีวิตวิถีใหม่ ทีใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการต่างๆ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทส. ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ปริมาณถุงพลาสติกลดลงมากกว่า 1 หมื่นล้านใบหรือมากกว่า 1 แสนตัน (11,958 ล้านใบ ประมาณ 108,220 ตัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) นับตั้งแต่การใช้มาตรการงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 ด้วยความร่วมมืออย่างดีจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ กว่า 76 บริษัท ตลอดจนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่ง ทส. จะยังคงเดินหน้ารณรงค์สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการออกกฎหมาย/มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องขอย้ำว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน ช่วยกันจัดการ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต และเพื่อการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวเสริมว่า วันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำความดีในเรื่องของจิตอาสา ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 10 อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติบุคคล ชุมชน และองค์กรต้นแบบด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด "ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กทม. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. กิจกรรมภายในงาน มีทั้ง การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคล องค์กร และชุมชนที่มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น รวม 46 รางวัล ได้แก่ รางวัลถ้วยพระราชทานฯ โครงการชุมชนปลอดขยะ zero waste ระดับประเทศ รางวัล ทสม. และเครือข่าย ทสม. ดีเด่น ระดับประเทศ รางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม รางวัลอุทยานธรณีประเทศไทย และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการอนุรักษ์แหล่งมรดกธรณีและการดำเนินการอุทยานธรณี รวมทั้ง การจัดกิจกรรมและนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด "ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม"ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ และภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น