การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยวิธีปรับภูมิคุ้มกัน

อังคาร ๐๘ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๔๑

โรคภูมิแพ้คืออะไร มีอะไรบ้าง และรักษาให้หายได้หรือไม่ ?

นายแพทย์จิรวัฒน์  เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์อนุสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า สถานการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งทั่วโลก และในประเทศไทยจากสถิติล่าสุดปี 2559 ของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึง 3 - 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึงร้อยละ 38  และพบในผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23 - 30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10 - 15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 5 และในปัจจุบันมีข้อมูลว่ามลพิษ (air pollution) ที่มีมากขึ้นในปัจจุบันทำให้คนเป็นโรคกลุ่มภูมิแพ้ และหลอดลมมากยิ่งขึ้น ซึ่งโรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น การเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจจึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท อาจมีง่วงช่วงกลางวัน ส่วนกลุ่มโรคหืด อาจมีอาการเหนื่อยทั้งตอนกลางคืน หรือตอนออกแรงจนทำให้ต้องหยุดงาน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

โรคภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติ แล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช ขนสัตว์ แล้วเกิดการตอบสนองไวอย่างมากผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากคนปกติทั่วไปทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น โพรงจมูก หลอดลม ผิวหนัง

สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง อาทิ การสัมผัสทางผิวหนัง ตา หู จมูก การรับประทานอาหาร  การได้รับผ่านทางระบบทางเดินหายใจ การฉีดหรือถูกแมลงกัดผ่านทางผิวหนัง สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ ตัวไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา ขนสัตว์ แมลงต่างๆ ฯลฯ โรคภูมิแพ้ที่สำคัญที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วย ได้แก่ โรคหืด(Asthma) โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้(Atopic dermatitis)

การรักษาโรคภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคหืด หรือผื่นผิวหนังอักเสบให้ได้ผลดีนั้น นอกจากผู้ป่วยควรจะทราบสารที่ก่อภูมิแพ้ของตน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้นแล้ว ยังมีการใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาชนิดรับประทาน ยาพ่นจมูก ยาพ่นหรือยาสูดทางปาก และหากใช้ยาแล้วผู้ป่วยยังคุมอาการไม่ได้ ปัจจุบันยังมีการรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ให้ผู้ป่วยหายแพ้ต่อสารนั้น เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นหรือหายได้ ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีการปรับภูมิคุ้มกัน  (Immunotherapy)  มี 2 วิธีหลัก คือ วิธีฉีดสารที่แพ้เข้าใต้ผิวหนังและค่อยๆ  เพิ่มปริมาณทีละนิดทุกครั้งที่มาพบแพทย์ และอีกวิธีเป็นการใช้สารที่ผู้ป่วยแพ้อมใต้ลิ้นทุกวัน ปัจจุบันในประเทศไทยวิธีอมใต้ลิ้น มีใช้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้ต่อไรฝุ่น ทั้งนี้ในการรักษาด้วยวิธีปรับภูมิคุ้มกัน (immunotherapy) ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการแพ้ มีผื่น หายใจไม่ออก หรืออาจแพ้รุนแรงได้

สุดท้ายนี้อยากฝากถึงทุกคนว่า โรคภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคหืด อาจไม่ใช่ภาวะที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์ทันที แต่หากปล่อยทิ้งไว้ และยังสัมผัสต่อสารแพ้ต่อเนื่อง อาจทำให้มีผลแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรังจากเสมหะไหลลงคอ มีอาการหอบหืดเกิดเป็นโรคหืดที่คุมอาการไม่ได้ อาจถึงมีระบบหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารที่ตนแพ้ ใช้ยาต่อเนื่อง และหากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาวิธีรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ