ดร.ภก.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกลไกการขับเคลื่อนแผนงานด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติว่ามีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว โดยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการส่งออกรวม 9,652.86 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ ปี 2562 มีมูลค่า 5.21 หมื่นล้านบาท การบริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อเทียบกับชาติต่าง ๆ ในอาเซียน+6 ไทยอยู่อันดับ 4 และตั้งเป้าพยายามขึ้นไปแทนเกาหลีใต้ที่อยู่อันดับ 3 โดยมีจีนและญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 1-2
ขณะที่นางสุบงกช ทรัพย์แตง ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทยนั้น พบว่าระเบียบข้อบังคับยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและขาดการจัดการที่เป็นระบบ มีสถานที่ผลิตยาที่ได้รับมาตรฐาน GMP เพียง 53 แห่ง โดยการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยจะพิจารณาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม การปนเปื้อนโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช เขื้อจลินทรัย์ และตัวทำละลายตกค้าง ปริมาณความชื้น และข้อมูลด้านพิษวิทยา ขณะที่ด้านประสิทธิภาพพิจารณาจากการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพในหลอดทดลอง การทดสอบประสิทธิภาพระดับเซลล์ สัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก ปัจจุบันยังไม่มีสารสกัดไพลที่ได้มาตรฐาน และต้องการการทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการเพื่อเปรียบเทียบผล เพราะการขอ ISO มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และบุคลากรไม่เพียงพอ
น.ส.ปิยธิดา ถิระณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า สวก.ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านสมุนไพรไทยตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวม 239 โครงการ งบประมาณ 456.5 ล้านบาท ปัจจุบันมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและบางส่วนร่วมมือกับโรงพยาบาลที่ใช้สมุนไพรในบัญชียา ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและเป็นหลักประกันสุขภาพอีกทางหนึ่ง ในปี 2565 สวก.ขอรับการสนับสนุนแผนงานสมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ แบ่งเป็น แผนงานย่อยที่ 1 การพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทย Product Champion (กระชายดำ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล) และสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก รวม 150 ล้านบาท และแผนงานย่อยที่ 2 การสร้างศักยภาพสมุนไพรไทยที่มีโอกาสเป็น New Product Champion รวม 175 ล้านบาท โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องร้อยละ 40 อีกร้อยละ 60 เป็นโครงการใหม่ ทั้งนี้ ขมิ้นชันและใบบัวบกได้ศึกษามานานแล้วจึงต้องดูช่องว่างของโจทย์วิจัยที่จะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยขมิ้นชันจะพัฒนาประเด็นที่สอดคล้องกับโรคจำเพาะ เช่น เบาหวาน ไขมันพอกตับ ในเชิงคลินิกเพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย ส่วนใบบัวบกจะศึกษาเพื่อเป็นอาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง และการจัดการระบบสำหรับการผลิตในประเทศ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสมุนไพรคิดว่ามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่มีค่าชี้วัดที่อยากได้สำหรับตอบเป้าประสงค์จริง ๆ ตัวชี้วัดบางตัวอาจเป็นตัวประกอบเป้าประสงค์ได้ด้วย ร่างยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต้องสอดคล้องกับภาพใหญ่ของแผนแม่บทสมุนไพรแห่งชาติทั้ง 4 ด้าน แต่ยุทธศาสตร์ที่ 4 (พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสมุนไพร) ยังค่อนข้างแคบ ต้องทำวิจัยในด้านต่าง ๆ เช่น การตลาด นโยบาย ช่องว่างของระบบ เพื่อยกระดับระบบนิเวศ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์อื่น ๆ ให้ดำเนินการได้ และที่สำคัญจะต้องมีการติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย ท้ายสุดแผนวิจัยต้องเห็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึงว่าในภาพ 3 ปี จะส่งมอบอะไร อาจต้องมีโรดแมปในแต่ละปี กำหนดโจทย์วิจัย นวัตกรรม และหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ "สกสว.สนับสนุนให้จัดลำดับความสำคัญของประเด็นวิจัยต่าง ๆ รวมถึงศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product champion ซึ่งอาจจะมีตัวอื่นที่น่าสนใจ การเพิ่มประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคนและสัตว์โดยเฉพาะโควิด-19 เพื่อให้เห็นตำแหน่งที่ชัดเจนและจัดสัดส่วนงบประมาณให้กับหน่วยบริการจัดการทุนต่าง ๆ ให้เกิดการต่อจิ๊กซอว์ตามเป้าหมายในที่สุด"
เช่นเดียวกับ น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษาภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานรวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ซึ่งเห็นด้วยว่าควรวาดภาพรวม 3 ปี และแผนย่อยในละปีที่เชื่อมโยงกัน โดย สวก.จะตอบยุทธศาสตร์ที่ 1 (วัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร) ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 (วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลิตภัรพืสมุนไพรไทยร่วมกับภาคเอกชน) ควรเป็นภารกิจของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อมุ่งสู่เมืองสมุนไพร ส่วนประเด็น Product Champion ในความเป็นจริงของโลกธุรกิจอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จึงควรวางแผนการทำงานและจัดสรรงบประมาณ โดยอาจให้งบร้อยละ 80 และมุ่งไปที่วัตถุดิบเดียวกัน เพราะการนำไปใช้ประโยชน์มีหลายระดับ และต้องมีระบบนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดความน่าเชื่อถือด้วย "เรามีทรัพยากรจำกัดจึงต้องกำกับทิศทางการบริหารจัดการ วัตถุดิบเป็นหัวใจสำคัญตอนต้น แต่ต้องมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ภาพรวมใหญ่ของประเทศจะต้องมีผู้ผลิตสมุนไพรเป็นผู้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเพิ่มมูลค่าสมุนไพรของประเทศ และต้องกำหนดกรอบการเชี่อมโยงงานวิจัยจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำให้ชัดเจน"