นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกที่มุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการขอหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) ผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการข้อมูลมากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยให้การบริการมีความสะดวก รวดเร็ว สามารถอนุมัติรายการได้เร็วสุดภายใน 10 นาทีจากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 3-7 วัน ตอกย้ำการให้บริการด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และยังช่วยลดการใช้กระดาษ ลด Carbon Footprint เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีในความร่วมมือในครั้งนี้ พร้อมเปิดเผยว่า การร่วมพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบ e-GP ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ระหว่างกรมบัญชีกลาง และ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด นับเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคธุรกิจ แต่รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สอดคล้องกับพันธกิจหลักของธปท.ในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า บริษัท บีซีไอ ภายใต้ความร่วมมือของของธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ ให้สามารถเติบโตได้ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล
ล่าสุด บีซีไอ ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง พัฒนาการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-LG ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของหน่วยงานราชการที่จะเปิดให้มีการใช้ e-LG ทำให้การยื่นหนังสือรับรองกับภาครัฐมีความสะดวกมากขึ้น
"สมาคมธนาคารไทยและบีซีไอ ได้สนับสนุนบริการ e-LG บนเทคโนโลยีบล็อกเชนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการแล้ว 16 ธนาคาร และมีแผนจะรองรับไปยังธนาคารพันธมิตรให้ครบทั้ง 26 ธนาคารในอนาคต โดยปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันกว่า 10 แห่ง โดยกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานล่าสุดแห่งที 11 โดยบีซีไอตั้งเป้าจะขยายบริการให้ครอบคลุม 80% ของหนังสือค้ำประกันในประเทศทั้งหมด ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมีการใช้หนังสือค้ำประกันอยู่ 500,000 ฉบับต่อปี วงเงินรวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท"