ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) รู้สึกภูมิใจที่ได้แป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการวิจัย นวัตกรรม และการมองอนาคตอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทำการศึกษาและวิจัยอนาคตศาสตร์ โดยมีหน้าที่หลักคือศึกษางานวิจัย และสถานการณ์แนวโน้มในอดีต ปัจจุบัน และนำมาวิเคราะห์ คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่ของสังคม ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม เป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่มีต่อโลกในอนาคต พร้อมสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจกับนักอนาคตศาสตร์ทั่วโลก เตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกันได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อนำมาพัฒนาพร้อมบูรณาการนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคตรวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการศึกษากลุ่มคน Generation Z ที่เป็นกุญแจสำคัญและมีบทบาทสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรหรือภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดการปรับตัว หรือการเลือกใช้จุดเด่น และศักยภาพของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม
นายองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า MQDC มีความตั้งใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ บนถนนสุขุมวิทย่านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เป็นย่านนวัตกรรมระดับโลก โดย MQDC ได้มีการศึกษาวิจัยร่วมกับ FutureTales Lab by MQDC เพื่อร่วมคิดและออกแบบ (co-creation) กับทั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงชุมชนท้องถิ่นในย่านปุณณวิถี โดย MQDC จะสร้างให้ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคเป็นศูนย์รวมของหัวกะทิด้านวงการเทคโนโลยี (tech talents) ทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยให้พื้นที่ในย่านนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการ (living lab) ให้สามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบริบทสังคมของจริง นอกจากนี้ MQDC ยังยึดถือหลักการ Goodwill ในการพัฒนาทุกโครงการ นั่นคือ เวลาเราเข้าไปพัฒนาในย่านไหน คนได้ย่านนั้นต้องได้รับประโยชน์และเติบโตไปกับเราด้วย MQDC เชื่อว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองไม่จำเป็นต้องเกิดจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนร่วมผ่านแนวคิด POPOS (Privately-Owned Public Open Space) ได้เช่นกัน จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน มามีร่วมกันผลักดันพัฒนาย่านนี้เป็นย่านนวัตกรรมที่น่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมของประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยทางอว.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ขณะนี้ภาคเอกชนให้ความสนใจ และเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ อย่างเช่นการทำงานของศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา หรือฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล-สถิติที่เคยเกิดขึ้นกับสังคม และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ขณะนี้กำลังพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีร่วมกับ NIA ให้เป็นย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค เพื่อสร้างพื้นที่ให้แก่สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม การทำเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ เชื่อว่าจุดเด่นสำคัญที่ควรผสมผสานเข้าไปกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ "อัตลักษณ์" เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับบริบทความเป็นจริงของประเทศ รวมถึงเผยแพร่มุมมองความเป็นไทยให้ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การเกิดขึ้นของย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงโอกาสที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัล และความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ สตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการจัดตั้งและขยายธุรกิจ โดยการให้คำปรึกษาผ่านองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่ โดยในปี 2564 นี้ NIA และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จะร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและวิถีชีวิต ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของ "นวัตกรรม" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมในหมู่นักอนาคตศาสตร์และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง