นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการเลี้ยงด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) และนวัตกรรม 3 สะอาด ควบคู่กับแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรงและปลอดโรค การเพาะฟักลูกกุ้ง ทำให้ได้พันธุ์ลูกกุ้งที่ปลอดโรค แข็งแรง โตไว ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง
การจัดการฟาร์มด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ เป็นการเลี้ยงกุ้งที่สามารถควบคุมป้องกันโรคจากภายนอก ไม่ให้มีการปนเปื้อนเข้ามาในระหว่างการเลี้ยงได้ทุกขั้นตอน เช่น การคลุมตาข่ายเพื่อป้องกันนก การกั้นรั้วรอบบ่อเพื่อกันพาหะนำโรคอื่นๆ เข้ามาในบ่อเลี้ยงกุ้ง และการใช้ระบบ Ultra filtration เพื่อกรองเชื้อโรคออก นอกจากนี้ ยังมีการใช้จุลินทรีย์ Biofloc เพื่อบำบัดสารอินทรีย์และของเสียภายในบ่อด้วย ทำให้สามารถลดการดึงน้ำจากภายนอกมาใช้
ส่วนนวัตกรรม 3 สะอาด เป็นการพัฒนาการเลี้ยงโดยให้ความสำคัญกับพันธ์กุ้ง บ่อเลี้ยง และน้ำ ต้องสะอาดเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้สูงขึ้น ปลอดสารปนเปื้อน เป็นที่ต้องการของตลาด
"ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างฟาร์ม มีระบบน้ำและการบำบัดน้ำที่ดี ตลอดจนกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลสำหรับพนักงาน และผู้มาติดต่อ จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสเปรย์และตรวจอุณหภูมิก่อนเข้าฟาร์ม ซึ่งเป็นข้อบังคับอย่างเคร่งครัดของฟาร์ม" นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวย้ำว่า แรงงานต่างด้าวทุกคนของซีพีเอฟ เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการจัดหาผ่านหน่วยงานที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้การรับรองภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) และนำเข้ามาถูกต้องตามมาตรฐานแรงงานไทยทั้งหมด
ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีกระบวนส่งมอบสินค้าอย่างรัดกุม ด้วยการส่งกุ้งสดๆ ส่งตรงจากฟาร์มกุ้ง ถึงร้านค้า ร้านอาหาร และผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าในตลาดกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสของคน
"จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้ออาหารที่ สด สะอาด ปลอดภัย ผ่านกระบวนการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานสากล กุ้งของซีพีเอฟ จึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างดี" นายไพโรจน์ กล่าว