ผลประเมินจาก WWF ชี้ ธนาคารในกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต้องเร่งดำเนินการตามหลัก ESG ให้เท่าทันกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของโลก

พฤหัส ๒๔ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๓๘
  • ผลประเมินการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม (E = Environment) สังคม (S = Social) และธรรมาภิบาล (G = Governance) หรือ ESG ของธนาคารครั้งที่ 4 มีข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หากแต่ธนาคารในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้นเพื่อเท่าทันกับกระแสโลก
  • ภาคการธนาคารของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน และการมีส่วนช่วยสนับสนุนวาระระดับสากลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประเมินปีนี้มีธนาคารที่ได้รับการประเมินในประเทศไทยทั้งหมด 7 ธนาคาร

รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (Sustainable Banking Assessment: SUSBA) ประจำปี 2563 ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ WWF ที่ล่าสุดได้ประเมินธนาคาร 5 แห่งในประเทศญี่ปุ่นและ 5 แห่งในประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับธนาคารอีก 38 แห่งในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ธนาคารที่ได้รับการประเมินมีความก้าวหน้าในการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นหนึ่งในการปัจจัยการพิจารณากิจกรรมด้านการเงินมากขึ้น แต่ยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลให้ภาพรวมของภาคการธนาคารยังคงมีความเสี่ยงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความสูญเสียทางธรรมชาติอื่นๆ โดยการประเมินนี้ ตั้งอยู่บนกรอบการดำเนินงาน 6 ด้านหลัก ภายใต้การบูรณาการหลักเกณฑ์ ESG อันประกอบด้วย เป้าหมาย (Purpose) นโยบาย (Policies) กระบวนการ (Processes) บุคลากร (People) ผลิตภัณฑ์ (Products) และพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) พร้อมด้วยการวิเคราะห์ที่ลงลึกในรายละเอียดของภาคส่วนธุรกิจและประเด็นปัญหาต่างๆ (Sectors and Issues) ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีนี้

ผลการประเมินปีนี้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจน โดยธนาคารกว่าร้อยละ 75 ในภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และเกือบร้อยละ 30 มีการพัฒนาขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 อ้างอิงตามหัวข้อของการประเมิน แม้ว่าธนาคารในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถผ่านการประเมินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 70 หัวข้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น 2 เท่า โดยจากเดิม 4 ธนาคาร เพิ่มขึ้นเป็น 8 ธนาคาร หากแต่ยังนับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบจากจำนวนธนาคารทั้งหมดที่ได้รับการประเมิน ซึ่งร้อยละ 45 ของธนาคารผ่านหัวข้อการประเมินน้อยกว่า 1 ใน 4 เทียบกับร้อยละ 51 ในปีที่ผ่านมา โดยการประเมินปีนี้มี 5 ธนาคารจากประเทศญี่ปุ่นและ 5 ธนาคารจากประเทศเกาหลีใต้เข้าร่วม ซึ่งธนาคารจากประเทศเกาหลีใต้มีผลการประเมินคล้ายคลึงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ธนาคารจากประเทศญี่ปุ่นมีผลการประเมินสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย การประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (Sustainable Banking Assessment: SUSBA) ประจำปี 2563 นี้ มีธนาคารที่ได้รับการประเมินในประเทศไทยทั้งหมด 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต* ซึ่งผลการประเมินพบว่า 1 ใน 7 ธนาคารไทย ติด 10 อันดับแรกของธนาคารในอาเซียนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ร้อยละ 71 ของธนาคารไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นในปีที่ผ่านมา และมีธนาคารไทย 2 แห่ง ที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินมากกว่าร้อยละ 50 สิ่งที่น่าสนใจคือ ธนาคารส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสังคม และเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีความก้าวหน้ามากขึ้นในด้านการมีส่วนร่วมในความร่วมมือและความคิดริเริ่มต่างๆ ซึ่งสามารถเห็นได้จากการที่ธนาคารมีการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในประเด็นเกี่ยวกับการบูรณาการหลักเกณฑ์ ESG และการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อยกระดับดำเนินงานของภาคการธนาคารในประเทศ ตลอดจนเพื่อต่อสู้กับความท้าทายและบรรเทาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า "ภาคการธนาคารของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในเรื่องของการตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน พร้อมทั้งการมีส่วนช่วยสนับสนุนวาระระดับสากลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งด้านความยั่งยืน ซึ่งนำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ในประเทศไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาและดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น รวมถึงการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีที่ผ่านมา"

โดยธนาคารในประเทศอื่น อย่างธนาคารญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะทำคะแนนประเมินได้ดีภายใต้หัวข้อการประเมินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยทุกธนาคารเปิดเผยอย่างชัดเจนในด้านการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ กลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง ตัวชี้วัด และเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ทั้งยังมีผลประเมินเชิงบวกในด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ไม่เพียงนำเสนอและเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังสนับสนุนลูกค้าในเชิงรุกมากขึ้นด้วยการบริการให้คำปรึกษาหรือดำเนินกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ ส่วนธนาคารเกาหลีใต้สามารถทำคะแนนประเมินได้ดีด้านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในระยาว ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารจากภูมิภาคอาเซียน

ประเด็นสำคัญที่พบจากการประเมินธนาคารในกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

  • ธนาคารญี่ปุ่นทั้ง 5 แห่งและร้อยละ 60 ของธนาคารเกาหลีใต้มีการวางกลยุทธ์รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีรายชื่อเป็นผู้สนับสนุน TCFD ในขณะที่ร้อยละ 24 ของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนมีกลยุทธ์เพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากกว่าปี 2562 ถึง 4 เท่า แม้จะนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้า แต่ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนยังคงตามหลังธนาคารในภูมิภาคอื่น
  • ร้อยละ 34 ของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนมีความตระหนักถึงความเสี่ยงจากการทำลายป่า (Deforestation) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยกว่าปีที่แล้ว 3 แห่ง
  • มีธนาคารเพียงร้อยละ 21 ในภูมิภาคอาเซียน และร้อยละ 20 ธนาคารในเกาหลีใต้ตระหนักถึงความเสี่ยงของทรัพยากรน้ำนอกเหนือจากเรื่องของมลพิษ ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำมีสาระสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ โดยมีมูลค่าความเสี่ยงสูงถึง 425,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก
  • จากการวิเคราะห์รายละเอียดของภาคส่วนธุรกิจและประเด็นปัญหาต่างๆ (Sectors and Issues) ยังพบว่า หากธนาคารยังคงดำเนินกิจกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการถ่านหิน ธนาคารเหล่านี้จะเผชิญกับความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาษีคาร์บอน และความล้าหลังทางเทคโนโลยีของโครงการที่ธนาคารให้สินเชื่อ

นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณที่จะเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการหรือธุรกิจที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งธนาคารสามารถนำแนวทางที่เป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้นไปปรับใช้ โดยการกำหนดเป้าหมายตามหลัก Science-based targets หรือ SBTi เพื่อลดปริมาณคาร์บอนในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร

"ในปีนี้ธนาคารหลายแห่งได้การพัฒนาอย่างก้าวหน้าขึ้นมาก ทว่าการรักษาระดับความก้าวหน้าแบบนี้ต่อไปในปี 2564 ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากโลกกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญ โดยขณะที่ธนาคารช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด ธนาคารเป็นหัวใจสำคัญในการชี้นำต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์ฉุกเฉินของธรรมชาติ วิกฤตนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม แต่ด้วยการดำเนินการแก้ไขที่ถูกต้อง เราจะกลับมาเข้มแข็งมากกว่าเดิม"  ดร. คีท ลี รองประธานอาวุโสด้านการเงินยั่งยืนในเอเชียจาก WWF กล่าวสรุป

*ในรายงานปีนี้ ยังมีธนาคารธนชาตรวมอยู่ด้วย เนื่องจากการประเมินนี้ประเมินจากรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืนปี 2562 หรือสิ่งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ จนถึง 31 ตุลาคม 2563

เกี่ยวกับรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร

รายงานฉบับนี้อัพเดทจาก 'Sustainable Banking in ASEAN' ของ WWF ในปี 2562 โดยเก็บผลสำรวจจากธนาคารในอาเซียน 38 แห่งใน 6 ประเทศ ธนาคารญี่ปุ่น 5 แห่ง และธนาคารเกาหลีใต้ 5 แห่ง เปรียบเทียบกับชุดตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงการบูรณาการด้าน ESG หรือหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล บนขอบเขต 6 ด้าน อันได้แก่ เป้าหมาย (Propose) นโยบาย (Policies) กระบวนการ (Processes) บุคลากร (People) ผลิตภัณฑ์ (Products) และพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์ต่อภาคส่วนและประเด็นใหม่ๆ ทำให้สามารถเจาะประเด็นไปยังด้านนโยบายได้มากขึ้น เปรียบเทียบภาระผูกพันของธนาคารและความคาดหวังของลูกค้า ผลลัพธ์จะถูกนำเสนอในรูปแบบของเว็บไซต์ (www.susba.org ) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบธนาคารและตัวชี้วัดที่เลือกตามความต้องการของพวกเขา

หลักเกณฑ์การประเมินนี้จะพิจารณาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่เปิดเผยต่อสาธารณะและได้รับการเผยแพร่ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2563  ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของรายงานประจำปี 2562 รายงานความยั่งยืน หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์กร

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th

ทั้งนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ขอแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคต่อไปนี้ที่ให้ทุนในการทำรายงานแก่เรา มูลนิธิ Gordon and Betty Moore Foundation; International Climate Initiative (IKI) และ The Federal Ministry of the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety (BMU) สนับสนุนความคิดริเริ่มนี้บนพื้นฐานของการตัดสินใจที่นำโดย Bundestag ของเยอรมัน ความคิดเห็นที่แสดงในเอกสารฉบับนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน แต่เพียงผู้เดียวและไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความเห็นของ BMU

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก