โดยครูผันตัวเองจาก "ผู้สอน" มาเป็น "ผู้ก่อการ" (Change Agent) สร้างการเรียนรู้ รวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนไต่ระดับการเรียนรู้จากระดับผิว (Superficial) ระดับลึก (Deep) ไปสู่ระดับเชื่อมโยง (Transfer) เรียกว่าเป็น การเรียนที่ไม่ใช่แค่รู้ แต่เอาความรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างนิสัย ความเชื่อ และคุณธรรม
กิจกรรม Workshop ครั้งที่ 1 : จัดการความรู้และเติมความรู้ โครงการครูเพื่อศิษย์สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 -22 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1.เพื่อให้ผู้อำนวยการและครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การออกแบบและจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนเกิด Visible Learning (การเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด) และนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ 2. เติมเต็มความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในห้องเรียน ซึ่งเป็นหัวข้อที่คุณครูอยากเรียนรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ เครื่องมือที่ 1.ชุดคำถาม : การตั้งคำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้ โดยรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ การกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้และการสะท้อนผล โดย รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี เครื่องมือที่ 2.การประเมินแบบ Formative Assessment: Visible Learning โดยครูศีลวัต ศุษิลวรณ์
เวิร์คชอป "จัดการความรู้และเติมความรู้ฯ" เป็นกิจกรรมเติมเต็มระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ใน "เวที Online PLC Coaching" เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมดำเนินต่อเนื่องมาแล้ว 6 ครั้ง และจะดำเนินการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมีหัวใจสำคัญที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและร่วมให้ความเห็นและตีความการทำงานของครูเพื่อเกิดการยกระดับการเรียนรู้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, รศ.ประภาภัทร นิยม, ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่, รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ,ฯลฯ
โครงการเชื่อว่าครูจะสามารถทำหน้าที่ "โค้ช" ให้กับศิษย์ได้ดี หากได้รับการฝึกฝน มีผู้ชี้แนะและทำงานร่วมกันเป็นทีม ชุมชนครูผู้ศิษย์ฯ จึงเปิดพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูจากเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 21 โรงเรียน โดยการเรียนรู้ร่วมกันแต่ละครั้งมีครูต้นเรื่องเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในบริบทที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้คณะครูได้ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยน และได้รับการเติมเต็มความรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตนเอง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้ตีความและเขียนหนังสือ "ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับใเชื่อมโยง" กล่าวถึง การเรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ (Visible Learning) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ทั้งครูและศิษย์ต้องไม่ตกหลุมการเรียนรู้แบบผิวเผิน
"เรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ (Visible Learning) ต้องมองกว้าง ทั้งครูและศิษย์แจ่มชัดในคุณค่าการเรียนต่อชีวิตในอนาคต อย่าเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นหลัก แต่เรียนจากการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (Reflection หรือ AAR) ให้เด็กสร้างความรู้ใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนคิดคนเดียว สะท้อนคิดเป็นกลุ่ม หรือครูสามารถเป็นผู้ช่วยตั้งคำถาม หลักการเรียนรู้สมัยใหม่สมองมนุษย์เรียนรู้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ แล้วนำประสบการณ์มาคิดแบบใคร่ครวญ เช่น การสะท้อนคิดคนเดียวด้วยการเขียนความเรียง หรือการวาดรูปมายด์แม็พ (Mind Map) ที่ช่วยกระตุ้นความคิดเชื่อมโยงออกไปได้กว้างขวาง"
ด้วยเหตุนี้ เพื่อพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงและเป็นที่ประจักษ์ ทักษะที่ครูจำเป็นต้องมี คือ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบแผนการเรียนการสอน การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การตั้งคำถามปลายเปิด การประเมินผลลัพธ์ และการปรับปรุงวงจรการเรียนรู้ด้วยวง PLC (Professional Learning Community) ของคณะครูในโรงเรียน ทั้งนี้ เด็กควรได้เรียนรู้ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ หนึ่ง มีเป้าหมายการเรียนรู้เป็นของตนเอง สอง เห็นผลการเรียนรู้ของตนเอง สาม เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และ สี่ สามารถพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้
"การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเป็นการเรียนรู้ที่ทั้งครูและผู้เรียนมีเป้าหมายที่ชัดเจน ครูกำหนดเป้าหมายในการสอน แล้วหาทางทำให้เป้าหมายนั้นเป็นของนักเรียน ให้นักเรียนเป็นเจ้าของเป้าหมายการเรียน คือ นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ครูต้องรู้จักลูกศิษย์และรู้เป้าหมายของแต่ละคน ทำให้เป้าหมายของแต่ละคนได้รับความเคารพ เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วครูจึงออกแบบแผนการสอนหรือแผนการเรียนของเด็ก"
"เรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเป็นสิ่งที่ท้าทายและสนุกมาก เพราะสิ่งที่ก่อเกิดแรงบันดาลของเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ครูจึงต้องรู้จักเด็กทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม รู้ว่าควรจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแต่ละคนอย่างไร รวมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นที่ที่ปราศจากการถูกเยาะเย้ยหรือตำหนิ มีกัลยาณมิตรทั้งเพื่อนและครูเป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือในชั้นเรียน"
"ครูสามารถตั้งคำถามซึ่งคำถามที่ทำให้เด็กคิดได้มาก คือคำถามปลายเปิด วงการศึกษาไทยฝึกคำถามปลายปิด มีถูกมีผิดเป็นหลักเพื่อการให้คะแนน แต่เพื่อนำพาเด็กไปสู่การรู้เชื่อมโยงครูต้องฝึกตั้งคำถามปลายเปิด เป้าหมายของคำถามปลายเปิด คือ การประเมินว่าลูกศิษย์เข้าใจเรื่องที่เรียนรู้นั้นถึงไหน มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นแค่ไหน ลึกแค่ไหนและเชื่อมโยงได้แค่ไหน คำถามจึงไม่ได้มีเพื่อรับคำตอบที่ถูกต้องเท่านั้น แต่เพื่อฟังคำตอบแล้วประเมินผล หลังจากนั้นครูจึงนำ Feedback เข้าสู่วง PLC ของครูเพื่อปรับปรุงวิธีการและเป้าหมายการสอนในวงจรการเรียนรู้ต่อไป ครูใช้การประเมินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ของศิษย์ ที่จะนำไปสู่การให้เด็กประเมินตนเองเป็น และกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้"
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยเดินทางมาสู่ทางตัน การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เดินหน้าจึงไม่ใช่แค่การเรียนวิชาแต่เป็นการบูรณาการเรียนรู้แบบองค์รวม ที่นำไปสู่การ "พัฒนาคน" ทั้งทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และความรู้ (Knowledge) ทั้งสามอย่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ครูต้องไม่หลงอยู่แค่การสอนวิชาแต่มองไปที่การสอนลูกศิษย์ ดังนั้น การประเมินผลจึงไม่ใช่แค่การประเมินวิชา แต่ต้องเป็นการประเมินครบทุกด้านที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนโดยรอบและเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตในอนาคต
ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่สนใจสามารถร่วมเรียนรู้โดยติดตามการ PLC Online ทุกครั้ง และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www:plc.scbfoundation.com