พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. ว่า การประชุมในวันนี้ได้ให้หน่วยงานร่วมพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอให้ครอบคลุมในเชิงพื้นที่ มีเป้าหมายชัดเจน มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน ทำให้สามารถพิจารณาจัดลำดับการทำงานของหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะแผนงานที่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน สำหรับการขับเคลื่อนงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้คณะทำงานทั้ง 6 ด้าน หากพบว่ามีปัญหาอุปสรรค ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานร่วมกันพิจารณาและเสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงเป้าหมายและตัวชี้วัดให้เหมาะสม เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการเพื่อขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ก่อนที่จะเสนอ กนช. เพื่อพิจารณา ประกอบด้วย
- การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย กรอบแนวทางการดำเนินงานการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน และการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การดำเนินการจัดทำข้อมูลเชิงนโยบาย ตลอดแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำท่าจีนโดยกรมควบคุมมลพิษ การจัดทำคู่มือการเติมน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งยังเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแผนปฏิบัติการ จำนวน 2,800 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อเสนอของบกลางปี 2564 เพิ่มเติม จำนวน 1,713 ตำบลด้วย
- โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 19 โครงการ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 3 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 โครงการ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ภาคกลาง 2 โครงการ และภาคใต้ 4 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตน้ำเพิ่มขึ้นอีก 143,136 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 243,852 คน
- แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ 226.47 ตร.กม. มีประชาชนได้ประโยชน์ 144,520 ครัวเรือน แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2565-2569) ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาใต้ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาเหนือ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่ถนนเทพประสิทธิ์และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่คลองนาเกลือ ระยะกลาง (ปี 2570-2574) ได้แก่ ปรับปรุงคลองกระทิงลาย ห้วยมาบประชัน คลองนาเกลือ คลองมาบยายเลีย ห้วยร่วมหนองปรือ และคลองสาขาต่างๆ ให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ปรับปรุง/ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง เพื่อนำน้ำจากพื้นที่ชุมชนลงสู่คลอง และระยะยาว (ตั้งแต่ปี 2575) ได้แก่ ปรับปรุงห้วยใหญ่และห้วยสาขาให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ก่อสร้างฝายห้วยมาบประชัน และคลองมาบยายเลีย เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ก่อสร้างฝายห้วยใหญ่เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยซากนอก
- แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ สทนช. และกรมชลประทานเสนอ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และสร้างหลักประกันให้เกษตกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นสำคัญ ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำปิดปากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โครงการบรรเทาวิกฤตภัยแล้งลุ่มน้ำห้วยหลวงและลุ่มน้ำข้างเคียง โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และโครงการฝายปากชม "ในส่วนเรื่องที่
- หลักการของแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ และให้เร่งปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และคลองชัยนาท-ป่าสัก 2 พร้อมจัดลำดับความสำคัญแผนงานและงบประมาณ รวมทั้งจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยที่รุกล้ำเขตคลอง สำหรับ 9 แผนงานหลักดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ กลุ่ม 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง และกลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ได้แก่ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และหากต้องการยกระดับเชิงป้องกันให้สูงขึ้น ก็อาจจะต้องศึกษาคลองระบายน้ำที่ควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3" เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย