ด้านนพ.ปฐมฯ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจที่หน่วยงานได้รับรางวัลในครั้งนี้ ผลงานนวัตกรรมชุด PPE ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ได้ถูกพัฒนาขึ้นและได้เกิดการใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้ขาดแคลนทั้งหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน และชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นความร่วมมือและพัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรม สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สมาคมเส้นใยประดิษฐ์ไทย และสมาคมนอนวูเว่นไทย เป็นความร่วมมือที่จะผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้แก้ปัญหาได้เองภายในประเทศและได้มาตรฐานในระดับสากล
ปัจจุบัน วศ. กำลังเร่งจัดเตรียมห้องปฏิบัติการทดสอบชุด PPE และ PAPR ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อเรามีห้องปฏิบัติการดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไม่ขาดแคลนชุด PPE ที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเราสามารถผลิตได้เองในประเทศ และในอนาคตอันใกล้ประชาชนคนไทยสามารถส่งผลิตภัณฑ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากากผ้า ชุด PPE มาทดสอบคุณภาพได้ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย