นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคธุรกิจประกันภัย ในการดำเนินโครงการ "ประกันภัยโคนม" เพื่อร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร พร้อมยกระดับมาตรฐานธุรกิจโคนมในประเทศไทย ในฐานะสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้มอบแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19 รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก และหมู เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกันภัยจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานศึกษารายละเอียดต่อไป
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงโคนมของประเทศไทยในปัจจุบัน ปี 2563 ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำนวน 20,174 ราย ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (ฟาร์มโคนม GAP) 6,475 ฟาร์ม จำนวนโคนม 707,236 ตัว โดยเป็นแม่โครีดนม 320,613 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบที่มีการทำข้อตกลงการซื้อขาย (MOU) ระหว่างศูนย์รวมนมและผู้ประกอบการจำนวน 3,547 ตัน/วัน ทั้งนี้ 1,000 ตัน ใช้ภายใต้โครงการ "อาหารเสริม (นม) โรงเรียน" ปริมาณนมส่วนที่เหลือเป็นนมพานิชย์ที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมให้คนไทยได้บริโภค นอกจากนี้ การจัดทำ MOU เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ และเป็นอาชีพพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมของไทยนับเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย
สำหรับความคุ้มครองที่เกษตรจะได้รับจากการทำประกันภัยโคนม ประกอบด้วย ความคุ้มครองที่เกิดจากการเจ็บป่วยของโคนม, ความคุ้มครองการตายจากการบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ, ความคุ้มครองการตายจากภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพายุ ที่ได้รับการรับรองจากสัตวแพทย์ โดยเกษตรกรที่ซื้อประกันภัยโคนมในโครงการจะได้รับค่าสินไหมทดแทนประมาณ 30,000 บาทต่อตัว (เงื่อนไขตามกรมธรรม์)