'อย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ปี 4' เดินหน้าตอบโจทย์ประเทศไทย แก้ปัญหาเด็ก 'เตี้ย-อ้วน-ไอคิวต่ำ'

พุธ ๓๐ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๕๘

แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ 'อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้)' ปี 4 ให้คุณครูโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มุ่งพัฒนาครูเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ สร้างสื่อสร้างสรรค์เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย 3 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ตอบโจทย์ปัญหาเด็ก 'เตี้ย-อ้วน-ไอคิวต่ำ' ชี้หากปล่อยเด็กอ้วนในวัยอนุบาล มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วน 30% ส่วนเด็กวัยประถมและมัธยมที่อ้วน จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 80% ทั้งนี้วิกฤตโรคอ้วนจะส่งผลต่อเนื่องเกิดโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงถึง 73%

อ.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า "การอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้) ได้ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปีนี้ได้ร่วมกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคุณครูจากโรงเรียนในเครือข่ายโครงการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 31 โรงเรียน ด้วยหลักสูตรที่โครงการฯ พัฒนาจากการตกผลึกการทำงานมาตลอด 3 ปี มุ่งเน้นเรื่องของการปรับความรู้ความเข้าใจของคุณครู รวมถึงการสร้างกิจกรรมและนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ที่จะต้องสามารถสร้างทัศนคติและปรับพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนได้จริง โดยหลังจากการอบรมครั้งนี้ คุณครูแต่ละโรงเรียนจะร่วมกับทีมพี่เลี้ยงในโครงการฯ ออกแบบแผนงาน นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนตลอดปีการศึกษา 2564 และในท้ายที่สุด จะมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานนวัตกรรมของแต่ละโรงเรียนรวมถึงคัดเลือกโรงเรียนที่มีผลงานยอดเยี่ยมรับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีต่อไป"

อ.มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "สสส. มีพันธกิจในการสร้างเสริมสุขภาวะ รวมถึงการรณรงค์ในการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตที่รีบเร่งของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้ขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งเรื่องโภชนาการและการออกกำลังกาย พ่อแม่ส่วนใหญ่ฝากลูกไว้กับร้านสะดวกซื้อที่เด็กสามารถเข้าถึงขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งกลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่ของคนไทย ดังนั้น สสส. จึงเข้ามาสนับสนุนและร่วมทำงานในโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ นี้ เพื่อหวังให้เกิดความร่วมมือของทั้งโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง รวมไปถึงชุมชน ในการช่วยกันสร้างสรรค์สื่อและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงพฤติกรรมด้านสุขภาวะของเด็กและเยาวชนที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม"

ด้าน อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการ กล่าวว่า "วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เราอยากตอบโจทย์ประเทศไทย ว่าทำไมเด็กไทยถึง เตี้ย-อ้วน-ไอคิวต่ำ ทุกวันนี้คนไทย 73% เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่มีผลสืบเนื่องมาตั้งแต่เด็ก โดยสถิติถ้าเราปล่อยให้เด็กในวัยอนุบาลอ้วน จะมีโอกาสกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 30% และถ้าเราปล่อยให้เด็กในวัยประถมและมัธยมอ้วน จะมีโอกาสกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 80% ดังนั้น ถ้าเราลดปัญหาเด็กอ้วนได้ การเกิดโรค NCDs ของกลุ่มผู้ใหญ่ในอนาคตก็จะลดลง ที่ผ่านมาเราพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กอ้วน เกิดจากการสื่อสารเรื่องสุขภาวะที่ไม่แข็งแรงพอ ไม่เหมาะสมกับเด็ก ดังนั้นโครงการนี้จึงมุ่งที่จะพัฒนาคุณครูในการสร้างกิจกรรมและสื่อสร้างสรรค์ที่ทำให้เด็กได้รับการสื่อสารที่เหมาะสมกับวัย ผ่านการปรับพฤติกรรม 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย เป็นการสร้างความฉลาดรู้ด้านสุขภาพหรือ Health Literacy ให้กับเด็กไทยอย่างยั่งยืน"

ในส่วนของ นางบุปผาศิริ ไชยมงคล หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "กรุงเทพมหานคร กับ สสส. เปรียบเสมือนเป็นองค์กรพี่น้องกัน เมื่อทาง สสส. จัดทำโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมา นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะคุณครูที่มาอบรม จะได้รับความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่สามารถนำไปจัดทำโครงการ สร้างกิจกรรม รวมถึงผลิตสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนในเรื่องนี้ได้อย่างเห็นผลจริง ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กอ้วนเกิน ผอมเกิน ผ่านทั้งการจัดทำโครงการอาหารเช้า โครงการอาหารกลางวัน โครงการเด็กไทยอ่อนหวาน ฯลฯ เราคาดหวังว่าโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ นี้ จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่มาช่วยเติมเต็มทำให้เด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครพ้นจากปัญหาตรงนี้ไปได้"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version