มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะนักวิจัย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทย ปีที่ 2

อังคาร ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๐๖ ๑๓:๔๔
กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
แถลงข่าว เปิดตัวโครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าปีที่ 2
ประเด็นแรก : จับตาการวางแผนไฟฟ้า (PDP)
ป้องกันการซ่อนเงื่อนของธุรกิจพลังงาน และการลงทุนเกินจำเป็น
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะนักวิจัย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทย ปีที่ 2 เรียกร้องให้สังคมไทยจับตาการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผน PDP2006) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศเสนอให้กระทรวงพิจารณา เพื่อป้องการซ่อนเงื่อนและผลประโยชน์ทับซ้อนของธุรกิจพลังงาน และการลงทุนที่เกินจำเป็น
โครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทยเป็นโครงการวิจัยร่วมกันของ World Resources Institute Prayas Group มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพระปกเกล้า สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มพลังไท ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีก่อน โดยผลการวิจัยในปีที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าไทย จนมีส่วนนำไปสู่การล้มกระบวนการแปรรูป กฟผ. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในที่สุด
โครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทยในปีที่ 2 จึงดำเนินการต่อยอดจากปีแรก โดยเน้นการประเมินธรรมาภิบาลในการตัดสินใจที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การวางแผน PDP 2006 การตราพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งจะเป็นพระราชบัญญัติที่ครอบคลุมทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ การกำหนดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น
“การวิจัยในปีที่ 2 จะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจตัดสินใจเช่น กระทรวงพลังงาน ว่า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้นควรมีกระบวนการอย่างไร จึงจะเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบไฟฟ้าไทย ก่อนที่จะทำการประเมินว่าได้มีการดำเนินการตามที่ทำความเข้าใจกันมากน้อยเพียงใด” นายเดชรัต กล่าว
นายเดชรัต ขยายความถึงการทำงานในปีที่สองว่า “สิ่งที่ต้องจับตามองในปัจจุบัน คือ การวางแผน PDP เพราะการวางแผน PDP จะเป็นตัวกำหนดขนาดและโครงสร้างการลงทุนของธุรกิจพลังงานในอนาคต ธุรกิจพลังงานต่างๆ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชน จึงพยายามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว เช่น มีการคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากๆ ในขณะเดียวกัน กระบวนการวางแผน PDP ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมพิจารณา และไม่เคยประเมินถึงผลกระทบต่อเนื่องทางสิ่งแวดล้อมเลย”
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 1ในทีมนักวิจัย กล่าวว่า ตามหลักธรรมาภิบาลกระทรวงพลังงานต้องจัดกระบวนการระดมความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง รอบด้านและทั่วถึงให้มากที่สุด ไม่ใช่การจัดเวทีเพียง 1 วัน 1ครั้ง 1ที่ และต้องไม่ใช่การปักธงคำตอบไว้ล่วงหน้าก่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็น ไม่เช่นนั้นกระบวนการดังกล่าวจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เช่น ต้องมีกระบวนเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐ และข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆ อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนจากการจัดเวทีระดมความเห็นในการพิจารณาแผน PDP
“สิ่งที่ผู้บริโภคเป็นห่วงมากที่สุดคือ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งในปีล่าสุดนี้ค่าพยากรณ์เกินกว่าความเป็นจริงไปเกือบ 900 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ามากกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 โรง และหากไม่ปรับแก้ ก็จะคลาดเคลื่อนไม่น้อยกว่า 6,000 เมกะวัตต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า และภาระการลงทุนที่ล้นเกินไม่ต่ำกว่า300,000ล้าน ต้องถูกผลักมาอยู่ในค่าไฟที่เรียกเก็บกับผู้บริโภคในที่สุด” นางสาวสายรุ้ง กล่าว
นายศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นักวิจัย กล่าวว่า การเตรียมการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน หรือ IPP ตามแผน PDP โดยไม่มีการปรับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้มีความเป็นธรรมเสียก่อน ก็รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ ซ้ำรอยเดียวกันกับกรณีบ่อนอก บ้านกรูด โดยเฉพาะเมื่อ กฟผ. เสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงร้อยละ 40 ของโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่และการยอมรับของประชาชนเลย
“ธรรมาภิบาลคือ หัวใจของความสมานฉันท์ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงหวังว่ารัฐบาลนี้ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน จะให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล มากกว่าที่จะเร่งดำเนินการไป โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสียงของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม” นายเดชรัต สุขกำเนิด กล่าวสรุปปิดท้ายการแถลงข่าว
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
089-772-1388
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 085-901-2233
นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 089-494-7677

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ