กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สวทช.
บ. บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด รับมือภาวะไม้ยางพาราขาดแคลน หลังราคาน้ำยางดิบพุ่ง ‘พัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิต’ เพื่อการนำไม้มาใช้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียไม้ ภายใต้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าให้คำแนะนำเทคนิคการผลิต และจัดฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงานจนชำนาญ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้บริษัทฯ ลดต้นทุนในเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 10%
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ไม้ยางพารานอกจากจะนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว ยังนำมาใช้ทำวัสดุก่อสร้าง อาทิ ไม้ปูพื้น หรือ ผนัง เป็นต้น ทำให้ความต้องการไม้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ไม้ยางพาราเริ่มไม่เพียงพอ เนื่องจากราคาน้ำยางดิบที่แพงขึ้น และจะตัดไม้ได้เมื่อมีอายุ 25-30 ปี แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งปลูกไม้ยางพารามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอย่าง บ.บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไม้ปาร์เก้ ไม้ปูพื้นอัดประสานไม้ยางพารา และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ในฐานะผู้ประกอบการปลายน้ำ จำเป็นต้องเร่งพัฒนา รูปแบบ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นมาใช้ เพื่อควบคุมการใช้ไม้ยางพาราให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ภายใต้การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ ‘พัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิต’ ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและก่อให้เกิดการใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
นาย อัครินทร์ วงศ์อภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บ.บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากการเป็นเทรดดิ้ง เมื่อไม้เริ่มหายากขึ้น จึงหันมาจับไม้ยางพาราผลิตไม้ปูพื้นและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ แต่ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นผลิตไม้ปูพื้นสำเร็จรูปจากไม้ยางพารา หรือที่เรียกว่า Solid Wood โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเน้นผลิตและส่งออก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น , ตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพราะความเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพที่บริษัทฯให้ความสำคัญจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 ซึ่งในแต่ละเดือนมียอดส่งออกถึง 30 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ คิดเป็นประมาณ 5 หมื่นตารางเมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมขยายตลาดออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิตนั้น นายอัครินทร์ กล่าวว่า “ เนื่องจากสถานการณ์ไม้ของไทยเริ่มวิกฤติ ประกอบกับปัญหาที่พบทั่วไป ต้องเข้าใจว่าไม้เป็นวัสดุธรรมชาติ ฉะนั้นไม้แต่ละท่อนย่อมแตกต่างกันทั้งในเรื่องของการตำนิ ขนาด และความชื้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ไม้นั้นบิดเบี้ยว โก้ง หรือ งอ ทำให้ต้องตัดไม้ในส่วนนั้นทิ้งกลายเป็นเศษไม้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผู้ผลิตไม้ในฐานะอุตสาหกรรมปลายน้ำ ต้องหันมาคำนึงว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถนำไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด จากเดิมที่ต้องซื้อไม้เข้ามาเป็นจำนวนมากแต่ผลิตได้โปรดักส์ออกมาเพียงร้อยละ50 หรือน้อยกว่านั้น ให้สามารถผลิตเป็นโปรดักส์ได้มากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียไม้ในยามที่ไม้เริ่มหายากขึ้นเพราะเราต้องใช้ไม้ทุกวัน ”
หลังจากที่โครงการ ITAP ของสวทช. ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต อาทิ เทคนิคการเลื่อยไม้ , การไสไม้ , การต่อและการประสานไม้ เพื่อก่อให้ก่อให้เกิดการใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังได้แนะนำเทคนิคในการใช้เครื่องจักรตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องจักร , การจัดฝึกอบรมเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับบุคลากรของบริษัทฯ ทำให้พนักงานมีความรู้ เกิดความใส่ใจขั้นตอนต่างๆมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยังได้แนะนำเทคนิคต่างๆในการลดปริมาณของฝุ่นในโรงงานอีกด้วย
นายอัครินทร์ กล่าวว่า “ ผลที่ได้หลังการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแล้ว ถือว่าเป็นที่พึงพอใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้กระบวนการผลิตมีความคล่องตัวดีขึ้นแล้ว ยังนำไม้มาใช้อย่างคุ้มค่าผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ลดการสูญเสียไม้ลง จนแทบไม่เหลือของเสียอีกเลยหรือน้อยมาก และได้ผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย ถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างหนึ่ง ขณะนี้ผลประกอบการของบริษัทฯ เริ่มขยายตัวในทางที่ดีขึ้น คาดว่า จะมียอดขายที่สูงขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ”
สำหรับจุดเด่นของไม้ปูพื้นยางพาราที่แตกต่างจากไม้ชนิดอื่น คือ มีราคาที่ถูกกว่าไม้ปูพื้นที่เป็นไม้จริงชนิดอื่น ๆ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศว่าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ประกอบกับโทนสีของเนื้อไม้ยางพาราที่ออกสีขาว-เหลือง ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น และยังสามารถย้อมสีได้ตามที่ต้องการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทฯ ได้ผลิตขึ้นมีความหลากหลายเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า อาทิ ไม้ปูพื้นยางพาราสีไม้สัก หรือ ไม้ปูพื้นยางพาราสีไม้ประดู่ หรือ จะเป็นการย้อมสีของไม้ต่างประเทศชนิดอื่นๆ เช่น เมเปิ้ล , เชอร์รี่ , โอ๊ค หรือ บีช เป็นต้น โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 600 บาท ต่อ ตร.ม. ถือเป็นราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ไม้จริงชนิดอื่น และเป็นราคาในระดับที่บริษัทสามารถแข่งขันได้
นายอัครินทร์ ยังได้ฝากถึงผู้ประกอบการไม้ยางพาราแปรรูปว่า ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่แปรรูปไม้ยางพาราป้อนอุตสาหกรรมปลายน้ำ ควรคำนึงถึงระบบมาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปลายน้ำมีความมั่นใจในคุณภาพการผลิตไม้แปรรูปก่อนที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลดของเสียลงตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการดีต่อผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางพาราเอง ทั้งการลดต้นทุนของโรงงานและการสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมไม้ยาพาราไทย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
(สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพเพิ่มเติมติดต่อได้ที่คุณนก ,คุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187,8)
- พ.ย. ๒๕๖๗ พรีเมียร์ โพรดักส์ ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าให้ 3 บริษัท
- พ.ย. ๒๕๖๗ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าให้ 3 บริษัทพร้อมกัน
- ๑๕ พ.ย. บริษัท N15 Technology จำกัด ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดบรรยายเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
- ๑๕ พ.ย. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชวนสัมมนาออนไลน์ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ
- ๑๕ พ.ย. NIA ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัวเนื้อโคคุณภาพสูง "Lam Takhong Black Cow" ธุรกิจที่ 3 ภายใต้โครงการนิลมังกร 10X ดันแบรนด์เนื้อโลโคลสู่โกลบอล