สวทช.ร่วมกับภาคเอกชน เปิดตัวระบบคุณภาพ‘Best Practice : มาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปไทย’

พฤหัส ๐๙ มีนาคม ๒๐๐๖ ๑๔:๓๙
กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สวทช.
สวทช. ร่วมกับ สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัว ‘ Best Practice ของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราไทย’ เพื่อสร้างมาตรฐานในการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปที่มีคุณภาพ เทียบเท่าระบบคุณภาพสากล เพื่อให้ได้ไม้ฯที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า และมีราคาที่เหมาะสม ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยผู้ซื้อและผู้ขายครั้งแรกของไทย ด้าน สมอ.ขานรับ เตรียมร่างเป็น พรบ.บังคับใช้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ของไทย ใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมากกว่า 80% แต่เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเชื้อรา , แมลง , การเลื่อยไม้ , การอัดน้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้ , การอบไม้ และรวมถึงการบรรจุหีบห่อ ทำให้ไม้ยางพาราแปรรูปที่ได้มานั้นมีคุณภาพแตกต่างกันออกไปในแต่ละแหล่งผลิต ทำให้อุตสาหกรรมไม้ที่ใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ประสบปัญหาอย่างมาก ประกอบกับที่ผ่านมาประเทศไทยเองยังไม่เคยมีมาตรฐานเกี่ยวกับไม้ยางพาราแปรรูปเหมือนประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้จำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานในการควบคุมคุณภาพวิธีการผลิต เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไม้ในประเทศ มีไม้ยางพาราแปรรูปที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
ดังนั้น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันสร้างมาตราฐานการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปที่มีคุณภาพ “มาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” ขึ้น โดยได้มีการเปิดตัวมาตรฐานดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้จากทั่วประเทศสนใจเข้าร่วมกว่า 130 ราย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะผลักดัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นภาคเอกชนมีการรวมตัวกันในการกำหนดคุณภาพมาตรฐานในการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปขึ้นเอง จะช่วยในการจัดระเบียบให้กับภาคอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำศักยภาพมาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลเองก็ต้องการเห็น เพื่อจะได้ให้การสนับสนุนต่อไป เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่ใช่เรื่องของการควบคุม แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจ และมองไปในจุดเดียวกัน เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีโลก ที่มีคู่แข่งสำคัญอย่าง อิตาลี รวมถึงจีนและอินโดนีเซียในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยจึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งบนพื้นฐานที่ดีเป็นลำดับแรก”
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างงานได้มากกว่า 2 แสนตำแหน่ง โดยมีโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ และแม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้มากกว่า 10 ล้านไร่ แต่ในภาคการผลิตแล้ว กลับพบว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากการขาดเทคนิควิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ และขาดแคลนบุคลากรทางเทคนิคที่มีความรู้และความสามารถด้านการผลิต อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการกีดกันผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
มาตรฐาน Best Practice จึงเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรกระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยใช้กลไกในการช่วยเหลือจากภาครัฐ คือโครงการ ITAP ( สวทช.) และภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปให้การสนับสนุน ถือเป็นการสอดรับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับยางพาราแปรรูป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยต่อไป
“ มาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย คือ ระบบการผลิตที่ดี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า ด้วยราคาที่เหมาะสม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดเกณฑ์การประเมินคุณภาพไว้ 4 หลักเกณฑ์ด้วยกัน ได้แก่ การเลื่อยไม้ฯ , การอัดน้ำยา , การอบไม้ฯ , และการบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งมาตรฐานที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นมาตรฐานที่นำไปใช้ปฏิบัติต่อไป ” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว
นายวิทยา งามทวี นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้ของไทย โดยเฉพาะไม้ยางพารา ทำให้ไม่สามารถเพิ่มคุณค่าของไม้ยางพาราได้ ทั้งที่ไม้ยางพารามีจุดเด่นในเรื่องของความเหนี่ยวและทนทานต่อการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือ เฟอร์นิเจอร์ ดังนั้น ทางภาคเอกชนจึงได้มีความพยามผลักดันเรื่องดังกล่าวมานานแต่ยังขาดผู้ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลาง จนได้รับความร่วมมือจาก โครงการ ITAP (สวทช.) และภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาช่วยเหลือ จนเกิดมาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปขึ้น โดยเป็นมาตรฐานฯที่ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อและผู้ขายในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการลดปริมาณของเสีย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประหยัดพลังงาน ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือ การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อในด้านคุณภาพของไม้ยางพาราแปรรูป และหวังว่าไม้ยางพาราแปรรูปจากโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะสามารถยกระดับราคาได้ตามมูลค่า และคุณภาพของสินค้าที่สูงขึ้น” นายวิทยา กล่าว
ด้าน อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สาเหตุที่ผลักดันให้มีการนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ เพื่อลดข้อพิพากหรือปัญหาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม้ยางพาราแปรรูปที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกี่ยวกับราคาที่ไม่เป็นธรรม เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากในอดีตราคาซื้อ-ขายของแต่ละแห่งจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการรู้จักโรงงานใดเป็นส่วนตัวหรือความคุ้นเคยกัน แต่เมื่อมีมาตรฐาน Best Practice ฯ มาใช้ นอกจากจะได้ไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกันแล้ว ยังทำให้เกิดราคากลางขึ้นด้วย และเชื่อว่าต่อไปจะนำไปสู่การจัดตั้งตลาดกลางที่จะเปลี่ยนจากระบบการค้าขายจากเดิมมาเป็นระบบเทรดเดอร์ในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขัน และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวแรกของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยในการสร้างมาตรฐานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายและยังเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์การประเมิน “มาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” ที่มีขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย และเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปจากต้นน้ำในอนาคต เปรียบเสมือนการได้คุณภาพมาตรฐาน ISO 9000 หรือ มอก. ล่าสุด ทางสำนักงานมาตรบานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะมีการนำมาตรฐานดังกล่าวไปกำหนดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมของไม้ยางพาราแปรรูปต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมการประเมินมาตรฐาน Best Practice ฯ สามารถติดต่อยื่นขอสมัคร หรือ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณชนากานต์ หรือ คุณวลัยรัตน์ โทร 0-2564-7000 ต่อ 1368, 1381
(สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพ เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คุณนก , คุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6188)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ