กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายแพทย์ ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเผยว่าผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป มีอัตรา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า ภาวะประชากรผู้สูงอายุ ทั้งนี้อายุคาดเฉลี่ย ของคนไทยในเพศชายคือ ๖๘ ปี เพศหญิงคือ ๗๓ ปี สูงกว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า แต่ต่ำ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุของไทย ภาวะสุขภาพดีมีไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ปี ปานกลาง ร้อยละ ๓๐ และสุขภาพไม่ดีร้อยละ ๒๐ ซึ่งจะมีโรคประจำตัวอย่างน้อย คนละ ๑ โรค โดยพบว่าภาวะโรคของผู้สูงอายุพบโรคติดต่อน้อยลง มีเพียงร้อยละ ๑๑.๓ ในขณะที่โรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และสมองเสื่อม มีมากถึงร้อยละ ๘๕.๒ และอุบัติเหตุ ร้อยละ ๓.๕
สำหรับอาการที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ คือ การปวดเมื่อยตามร่างกาย ข้อเสื่อม นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ โรคเกี่ยวกับตา และความจำเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งในส่วนของอาการความจำเสื่อม สามารถฟื้นฟูได้ด้วยการออกกำลังสมอง โดยการทำสิ่งใหม่ ๆ คิดอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ การหัดใช้คอมพิวเตอร์ หรือหัดเล่นโปรแกรมต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิจารณาหน่วยความจำในสมอง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้สมองไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ในขณะที่สมองสามารถพัฒนาได้อีกร้อยละ ๙๐
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังได้แนะนำว่า ผู้สูงอายุควรจะได้มีการออกกำลังกาย และ ดูแลสุขภาพจิตควบคู่กับการออกกำลังสมอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของ ปอด หัวใจ ระบบหลอดเลือด เช่น การเต้นแอโรบิก การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เช่น การยกน้ำหนัก และการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น เช่น โยคะ รำไม้พลอง
(ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ ประจำวันที่ ๒๐ ม.ค.๔๙)--จบ--