กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--ตสล.
AFET เตรียมนำน้ำยางข้น (Latex) เข้าซื้อขาย 31 มี.ค.นี้ คาดได้รับการตอบรับดี เหตุเพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำยางสดใสโดย 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 72.41%
นางนภาภรณ์ คุรุพสุธาชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มีนาคม 2549 (วันนี้) AFET จะนำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าน้ำยางข้น (Latex) ชนิด High Ammonia เข้าซื้อขาย ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ในกลุ่มยางพาราตัวที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และนักลงทุนเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นอันดับหนึ่งของโลก และมีสัดส่วนการส่งออกเป็นลำดับ 3 รองจากยางแท่ง และยางแผ่นรมควันซึ่งมีการส่งออกสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
ผู้จัดการ AFET กล่าวว่า "การผลิตน้ำยางข้นของประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2543-2547) จาก 290,000 ตัน ในปี 2543 เป็น 500,000 ตัน ในปี 2547 หรือเพิ่มขึ้นถึง 72.41% เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมผลิตถุงยางอนามัย"
สำหรับข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าน้ำยางข้นนี้ AFET ได้กำหนดขึ้นตามมาตรฐานน้ำยางข้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โดยหน่วยการซื้อขายอยู่ที่ 5,000 กิโลกรัม หรือ 5 เมตริกตัน ต่อหนึ่งหน่วยการซื้อขาย และหน่วยการส่งมอบอยู่ที่ 20,000 กิโลกรัม หรือ 20 เมตริกตัน ต่อหนึ่งหน่วยการส่งมอบ นอกจากนี้กำหนดอัตราการขึ้นลงของราคา (ช่วงราคา) อยู่ที่ 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม และอัตราการขึ้นลงของราคาสูงสุดประจำวันเท่ากับ 2.00 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เดือนครบกำหนดจะเป็นทุกเดือนติดต่อกันแต่ไม่เกิน 6 เดือน และวันส่งมอบจะเป็นวันทำการสุดท้ายของเดือนส่งมอบ โดยการซื้อขายน้ำยางข้นวันแรกวันที่ 31 มีนาคม 2549 เป็นการซื้อขายล่วงหน้าสำหรับเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
นางนภาภรณ์ กล่าวต่อว่า "น้ำยางข้นเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่นำมาซื้อล่วงหน้าจะช่วยให้กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้นและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นถึงการใช้กลไกซื้อขายล่วงหน้าในการบริหารความเสี่ยง การเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ใช้ให้สามารถรับมอบและส่งมอบสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งหากมีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายมากพอก็จะสามารถใช้ราคาซื้อขายใน AFET เป็นราคาอ้างอิง และผู้ซื้อผู้ขายจะได้น้ำยางข้นที่มีมาตรฐานตามสัญญาซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นอน"
ในส่วนของนักลงทุนนั้น เราคาดว่าเมื่อนำน้ำยางข้นเข้ามาซื้อขายใน AFET แล้วน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากน้ำยางข้นอยู่ในกลุ่มสินค้ายางเช่นเดียวกัน จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการซื้อขายให้กับนักลงทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อขายให้ตลาดมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีกด้วย" นางนภาภรณ์กล่าวในที่สุด
สำหรับน้ำยางข้นสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์หลักๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จุ่มแบบพิมพ์ ได้แก่ ถุงมือ ลูกโป่ง ถุงยางอนามัย หัวนมยาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์น้ำยางในอุตสาหกรรมพรม โดยใช้น้ำยางเคลือบหลังพรมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง หรือใช้เป็นฟองน้ำเคลือบหลังพรมเพื่อเพิ่มความสบายในการเดิน ผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำใช้ทำที่นอน หมอน เบาะรองนั่ง เป็นต้น สายยางยืดแบบกลม เช่น ยางยืดขอบกางเกงใน ถุงเท้า และเสื้อยกทรง ยางรัดขาไก่ และยางรัดป้ายชื่อติดกระเป๋า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการเป็นตัวยึดขนสัตว์ หรือเส้นใยกาบมะพร้าว รวมทั้งการผลิตท่อยาง สายน้ำเกลือ กาวน้ำยางใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้า และเสื้อฝน ตลอดจนผลิตภัณฑ์หล่อเบ้าพิมพ์ (Casting) เช่น ทำตุ๊กตา หน้ากาก หุ่นต่างๆ อีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณเบญจวรรณ พิกุลทอง
โทร. 0-2263-9888 ต่อ 834, 0-1621 8954 e-mail: [email protected]