กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หน่วยงานผู้ให้บริการและดูแลการใช้เลขรหัสสินค้าบาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล GS1 System ในประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549 ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์บรรยายพิเศษในหัวข้อ "การประสานความร่วมมือในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไทยเพื่อตอบสนองความต้องการต่อผู้บริโภคและแนวโน้มการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ" โดยมีสมาชิกสถาบันฯ จากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรหัสสากล เปิดเผยว่า สถาบันรหัสสากล ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกำหนดหมายเลขประจำตัวบริษัทในระบบ GS1 System ให้กับสมาชิกสถาบันฯ ได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รองรับการก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งกำลังเข้ามามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยในปี 2548 ที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ดำเนิน โครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำระบบบาร์โค้ดมาประยุกต์ใช้ในธุรกรรมการค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจสู่ระบบการค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) อาทิ การจัดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การจัดการอบรม "โครงการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เอื้ออาทร" สำหรับให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ที่สนใจทั่วไป การเยี่ยมชมศูนย์สาธิตและศึกษาาการจัดการซัพพลายเชน โดยเป็นการจำลองการจัดการซัพพลายเชนของจริงให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นตัวอย่าง ซึ่งภายในปี 2548 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์สาธิตรวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ราย นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการจัดทำรหัสสินค้า Barcode ให้กับผู้ประกอบการสินค้า OTOP ที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับ 4 - 5 ดาว โดยจัดอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบาร์โค้ด เทคนิคบาร์โค้ดและการจัดการ สมัยใหม่ ในลักษณะ Road Show ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความพร้อมของสินค้า OTOP สู่ระบบตลาดพาณิชย์ ซึ่งมีผู้ประกอบการสินค้า OTOP ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 516 ราย
ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรหัสสากล กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานของสถาบันรหัสสากล ในปี 2549 ทางสถาบันฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการค้าโลกในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ 1. โครงการบาร์โค้ดสู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสถาบันรหัสสากล และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบาร์โค้ดมาตรฐานระบบ GS1 System แก่ผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ 2. โครงการ Alliance Partner เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกสถาบันฯ และผู้ให้บริการด้านบาร์โค้ด ด้าน RFID (Solution Providers) ด้านโลจิสติกส์ (Logistics Provider) ผู้ให้บริการคำปรึกษา (Consultant) และผู้ให้บริการซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น รวมทั้งเป็นการขยายช่องทางการตลาด โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์และความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. โครงการ e-learning เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้บาร์โค้ดระบบมาตรฐานสากลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกและผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 4. โครงการ RFID Training โดยเป็นการร่วมมือกับ American RFID Solutions LLC, ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดโครงการอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการทางด้าน EPC/RFID แก่สมาชิกสถาบันฯ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ของการใช้ระบบ RFID มากขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ 5. โครงการประชาสัมพันธ์และรับสมัครสมาชิก EPC/RFID 6. โครงการ EPC/RFID Center โดยสถาบันฯ ได้จัดตั้งศูนย์ EPC/RFID Center ขึ้น เพื่อมุ่งเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ให้กับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ 7. โครงการอบรมการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเอื้ออาทร ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2548 เพื่อมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้เข้าใจถึงการบริการจัดการในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้อย่างเหมาะสม โดยจะจัดอบรมทุกวันพุธที่ 1 ของเดือน รวมทั้งจัดอบรมแบบ Inhouse ให้กับบริษัทที่สนใจทั่วไป 8. โครงการระบบฐานข้อมูลเพื่อการค้า (Global Data Synchronization Network: GDSN) โดยมุ่งเน้นศึกษาถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ของโครงการ แนวโน้มการยอมรับของตลาดการค้าของประเทศไทย รวมทั้งแนวโน้มการกดดันจากตลาดการค้าเสรีที่อาจจะมีการบังคับใช้ระบบ GDSN เช่นเดียวกับ EPC/RFID 9. โครงการนำร่องการสืบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้า Traceability เป็นการสืบย้อนแหล่งที่มาของสินค้า หรือ Traceability ในสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกลุ่มประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาต่างให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 10. โครงการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นการนำระบบบาร์โค้ดไปประยุกต์ใช้ในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนทั้งในด้านการจัดการคลังสินค้า (Warehouse) สินค้าคงคลัง (Inventory) และการบริหารจัดการในระบบซัพพลายเชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสถาบันฯ ได้เริ่มทำโครงการดังกล่าวให้กับบริษัทเอสเอ็มอีต่างๆ โดยคาดว่าในอนาคตจะนำระบบ EPC/RFID มาประยุกต์ใช้ต่อไป
นอกจากนี้ โครงการอื่นๆ ที่สถาบันฯ ได้กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการตรวจสอบบาร์โค้ด (Barcode Verification) โครงการตรวจการลักลอบใช้บาร์โค้ด การจัดอบรม สัมมนา และชมโรงงาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และออกคูหานิทรรศการ ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้ตั้งเป้าหมายการรับสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นภายในปี 2549 จำนวน 1,200 ราย
สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 ปัจจุบันมี นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสถาบันรหัสสากล นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรหัสสากล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9
- ธ.ค. ๐๙๙๓ ภาพข่าว: ประชุมวิชาการ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ตั้งคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังครบวงจร ทั่วประเทศ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ร่วมชมนวัตกรรมใหม่ในงาน ICT EXPO 2006