กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สวทช.
สวทช. จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก “ บี พี เอส มิลคอม” ยกระดับจากOEM ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักน้องใหม่ชั้นดี ภายใต้แบรนด์ “ BPS” และ “PLATO” เจาะกลุ่มตลาดบน ด้วยดีไซน์และคุณภาพการผลิตฝีมือคนไทย เพิ่มศักยภาพสินค้าไทยสู้แบรนด์นอก หนีภาวะการแข่งขันสินค้าต้นทุนต่ำ
‘เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก’ ถือเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการของไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต หรือOEM ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่น มีน้อยรายที่เล็งเห็นถึงการสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้า เนื่องจากปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่เข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้อนาคตการรับจ้างผลิตของผู้ประกอบในประเทศอาจไม่สดใส จึงต้องเร่งปรับตัวเสริมความเข้มแข็ง
บริษัท บี พี เอส มิลคอม จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองส่งออกของนายบุญชู ตรีทอง นักการเมืองชื่อดังขวัญใจชาวลำปาง เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่หันมาให้ความสำคัญต่อตลาดในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวภายใต้แบรนด์ BPS และรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทในต่างประเทศ หรือ OEM จึงเป็นครั้งแรกที่เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก BPS มีวางจำหน่ายในประเทศ พร้อมกับสร้างแบรนด์น้องใหม่เพิ่มภายใต้ชื่อ “PLATO” ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดโชว์รูมแห่งแรกบนชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายบุญชู ตรีทอง ประธานที่ปรึกษา บริษัท บี.พี.เอส. มิลคอม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกปี 2535 แต่หยุดกิจการลงชั่วคราว เพื่อหันไปทำงานการเมือง และกลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากเห็นว่าสภาพโรงงาน รวมถึงเครื่องจักร และวัตถุดิบคือไม้สักที่เก็บไว้นั้น ยังคงมีสภาพดีอยู่ จึงได้ตัดสินใจฟื้นฟูกิจการขึ้นอีกครั้ง โดยว่าจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารงานแทน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศเป็นหลัก แต่ปรากฏว่ากิจการต้องประสบปัญหาการขาดทุน แม้ว่าวัตถุดิบจะมีคุณภาพดี ได้รับการยอมรับ และมียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 จากปัญหาการขาดการจัดการเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ทำให้สิ้นเปลื้อง และการบริหารทางการเงิน ทำให้ต้องเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยครั้ง
“ หลังจากตัดสินใจกลับมาฟื้นฟูกิจการใหม่ แม้จะว่าจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามาดูแล แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุน ส่วนหนึ่งเพราะความไว้วางใจนักบริหารที่ว่าจ้าง ประกอบกับติดงานทางการเมืองทำให้ไม่ได้เข้ามาดูแลอย่างเต็มที่ จึงทำให้รู้ว่า เรื่องของการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของเทคนิคการผลิต แม้จะมีช่างฝีมือที่ชำนาญงานด้านไม้ ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของบริษัทที่ได้รับการถ่ายทอดงานฝีมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ” นายบุญชู กล่าว
จนถึงปี 2546 จึงได้บุตรสาวทายาทคนเดียวของนายบุญชู เข้ามาบริหารกิจการหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่บริษัทฯ กลับต้องประสบปัญหาอีกครั้งจากการที่ถูกประเทศแถบยุโรปกีดกันทางการค้าด้วยเงื่อนไขที่สินค้าของบริษัทฯ จะต้องได้รับหนังสือยืนยันการรับรองไม้จากกลุ่ม NGO ทำให้บริษัทต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ถึงแนวทางการตลาดจากเดิมที่เน้นการส่งออกอย่างเดียวหันมาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และสร้างแบรนด์ของตนเองใหม่ภายใต้ชื่อ “PLATO” ซึ่งจะเน้นดีไซน์ทันสมัยและคลาสลิกแบบโมเดิลผสมผสานระหว่างวัตถุดิบไม้สักกับวัสดุอื่นๆ เข้าด้วยกัน เช่น โลหะ หรือ สแตนเลส เป็นต้น เจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยม หรือ กลุ่มไฮเอนด์ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และส่งออกต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา
นายบุญชู กล่าวว่า “ การกลับเข้ามาดูแลกิจการอีกครั้งในฐานะประธานที่ปรึกษา โดยมีบุตรสาว คือ น.ส.สิริน ตรีทอง เข้ามาบริหารงานทางด้านการตลาด ได้เปลี่ยนแนวคิดจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มาเป็นการทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับสร้างแบรนด์ของตนเอง และเพื่อรองรับการเติบโต จึงต้องเร่งเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตพร้อมกับการทำตลาดที่จะแข่งกันในเรื่องของดีไซน์ และคุณภาพสินค้าเป็นหลัก รวมถึงวัตถุดิบหลักในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญคือไม้สักนั้น ซึ่งเราได้สัมปทานนำเข้าจากประเทศพม่าจะเป็นไม้สักทองที่มีคุณภาพและมาตรฐานหาได้ยากในประเทศ เพราะในประเทศไม้สักเป็นไม้ที่มีกฎหมายควบคุม และจำนวนไม้สักที่มีอยู่ในสต็อกก็เริ่มร่อยหร่อลงเรื่อยๆ เราจึงต้องการนำไม้สักที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสูญเสียเนื้อไม้ หรือ เศษไม้ให้น้อยที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่ผ่านมา”
นายบุญชู กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาการผลิตดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับบริษัท ทั้งในเรื่องของการอบไม้ , เทคนิคการผลิต และหาวิธีในการลดตำหนิที่เกิดสารแร่ในเนื้อไม้สัก ทำให้ปัจจุบัน บริษัทสามารถลดระยะเวลาการอบไม้ พัฒนาเทคนิคการผลิต สามารถนำไม้สักมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญยังทำให้พนักงานมีทักษะเพิ่มขึ้น และยังได้ว่าจ้างวิศวกรเข้ามาประจำโรงงานเพื่อควบคุมและดูแลกระบวนการผลิต รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของพนักงานในโรงานอย่างใกล้ชิด จึงนับว่าเป็นประโยชน์กับบริษัทอย่างมากในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สักได้คุณภาพอย่างที่ต้องการและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
สำหรับแผนการตลาดนั้น น.ส.สิริน มั่นใจว่า ดีไซน์ของ PLATO สามารถเจาะช่องว่างของเฟอร์นิเจอร์ระดับบนในประเทศได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่า จะสามารถสร้างแบรนด์ PLATO ให้ติดตลาดได้ภายใน 5 ปี โดยได้วางเป้าหมายที่จะขยายตลาดออกไปสู่ตลาดต่างประเทศในสัดส่วน 60 และในประเทศ 40 และได้ตั้งเป้ายอดขายไว้เดือนละ 2 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
- ๒๓ พ.ย. บริษัท N15 Technology จำกัด ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดบรรยายเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
- ๒๓ พ.ย. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชวนสัมมนาออนไลน์ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ
- ๒๓ พ.ย. NIA ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัวเนื้อโคคุณภาพสูง "Lam Takhong Black Cow" ธุรกิจที่ 3 ภายใต้โครงการนิลมังกร 10X ดันแบรนด์เนื้อโลโคลสู่โกลบอล