กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ระยะยาวที่ระดับ “A-(tha)” (A ลบ (tha)) และระยะสั้นที่ระดับ “F2(tha)” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงการที่บริษัทยังคงรักษาการเป็นผู้นำในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานได้ต่อไปภายหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ให้บริการในส่วนของธุรกิจเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่เครื่องบิน (Into-plane) เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย BAFS ยังเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานได้ในลักษณะครบวงจร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและมีส่วนแบ่งการเติมน้ำมันแก่เครื่องบินสูงถึง 90% ในปัจจุบัน นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ BAFS มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้ใช้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเป็นหลัก รวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีและการที่บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคง การเพิ่มขึ้นอย่างมากของความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน รวมถึงราคาค่าบริการเติมน้ำมันที่สูงขึ้น ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่ BAFS ในระยะปานกลาง
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ BAFS ยังพิจารณารวมถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการลงทุนก่อสร้างระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบครบวงจรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ BAFS ลดความแข็งแกร่งลง โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2549 จาก 4.6 เท่า ณ สิ้นปี 2548 และ 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2547 เมื่อพิจารณารวมต้นทุนค่าเช่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Net Adjusted Debt/EBITDAR) เพิ่มขึ้นเป็น 5.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2549 จาก 4.9 เท่า ณ สิ้นปี 2548 และ 3.4 เท่า ณ สิ้นปี 2547 อัตราส่วน Net Debt/EBITDA ของ BAFS คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 5.0 เท่าในปี 2549 และน่าจะลดลงมาที่ระดับ 2.5-3.0 เท่าในปี 2550 และ 2551 อันเป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดดำเนินการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงความต้องการใช้เงินลงทุนที่ลดลงอย่างมากในอนาคต ขณะเดียวกัน สภาพคล่องทางการเงินของ BAFS ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย BAFS มีเงินสดคงเหลือที่ 294 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2549 และยังมีสัดส่วนของหนี้สินระยะสั้นที่ต่ำ (ประมาณ 5% ของหนี้สินรวม ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2549)
นอกจากนี้ BAFS ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2549 ส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของบริษัทซึ่งอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวโดยการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราล่วงหน้าบางส่วน นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ BAFS ยังสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 รายในส่วนของธุรกิจคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Main Depot) ซึ่งอาจทำให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้นในระยะปานกลางและความเสี่ยงจากปริมาณการใช้ท่อขนส่งน้ำมันอากาศยานของบริษัท เจพี-วัน แอสเซ็ท จำกัดที่ต่ำ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงจากผู้ประกอบการท่อส่งน้ำมันอีกรายหนึ่ง นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้บริการเติมน้ำมันอากาศยานและการเติบโตของรายได้ของบริษัทได้
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ BAFS สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของความสามารถในการสร้างรายได้และการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินลงทุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทให้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้ภายในปี 2551
BAFS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและสนามบินในต่างจังหวัดอีก 2 แห่ง โดยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ BAFS ดำเนินธุรกิจคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Main Depot) ระบบท่อจ่ายน้ำมัน (Hydrant Pipeline) และการบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่เครื่องบิน (Into-plane) BAFS ยังถือหุ้นในบริษัท เจพี-วัน แอสเซ็ท จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในสองผู้ให้บริการระบบท่อขนส่งน้ำมันอากาศยาน (Jet Fuel Pipeline)ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BAFS ประกอบด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 22.6% และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ประกอบด้วย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) (ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) และผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทน้ำมันของต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันประมาณ 47%
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, โสมสิริ ชฎาวัฒน์, Vincent Milton, + 662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
- ๒๓ พ.ย. EA จับมือ BAFS ลุยส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ปักหมุดลดการปล่อย CO2 ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2573
- ๒๓ พ.ย. AOT ผนึก BAFS จัดกิจกรรม "AOT X BAFS เติมเต็มพลังเพื่อสตรีไทย" ยกระดับคุณภาพชีวิตวันสตรีสากล
- พ.ย. ๒๕๖๗ IND ร่วมลงนามกับ BAFS รับงานโครงการออกแบบและปรับปรุงระบบฉีดโฟมดับเพลิง