สำนักงานมหกรรมโลก(BIE) ยันไทยพร้อม จัด พืชสวนโลกฯ ราชพฤกษ์ 2549 ตามกฏมาตรฐานจัดงานระดับมหกรรมโลก นานาประเทศร่วมประชุมคึกคัก

พฤหัส ๐๔ พฤษภาคม ๒๐๐๖ ๑๔:๔๖
กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สำนักงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ
สำนักงานมหกรรมโลก(BIE) ยันไทยพร้อม จัด พืชสวนโลกฯ ราชพฤกษ์ 2549 ตามกฏมาตรฐานจัดงานระดับมหกรรมโลก นานาประเทศร่วมประชุมคึกคักเตรียมไฮไลท์จัดสวนเฉลิมฉลองแด่พ่อหลวงกษัตริย์นักเกษตรเอกของโลก
นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองให้เป็นการจัดงานระดับมหกรรมโลกระดับ A1 ซึ่งเป็นระดับการรับรองสูงสุดของการจัดงานมหกรรมโลกประเภทพฤกษชาติ และเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนเศษ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ในระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2549 คณะทำงานฯและ สำนักงานมหกรรมโลก หรือ BIE ได้จัดประชุม College of Commissioners ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างฝ่ายไทยกับผู้แทนประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมแสดงในงาน ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยวาระในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการตรวจความพร้อมของการเตรียมจัดงานให้เป็นไปตามกฏระเบียบการจัดงานระดับมหกรรมโลก ซึ่งผลการประชุม สำนักงานมหกรรมโลกเชื่อมั่นในความพร้อมของประเทศไทย และชื่นชมในความสำเร็จที่การจัดงานครั้งแรกของประเทศไทยได้รับการตอบรับจากนานาประเทศทั่วโลกอย่างคึกคัก โดยขณะนี้ ตอบรับเข้าร่วมงาน 30 ประเทศ จาก 5 ทวีปทั่วโลก โดยประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมล่าสุด คือ ประเทศตูนิเซีย จากทวีปแอฟริกา โดยปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ จากเดิมกำหนดให้แต่ละประเทศใช้พื้นที่ 500 ตารางเมตร แต่มีหลายประเทศขอขยายพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อจัดสวนให้ยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองแด่องค์พ่อหลวง คณะทำงานฯจึงต้องรีบดำเนิน การหาพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการจากนานาชาติให้ได้สูงสุด
ประเทศที่ตอบเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการมีจำนวน 30 ประเทศ จาก 5 ทวีปทั่วโลก ได้แก่ ทวีปเอเชีย (14 ประเทศ) ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเชีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเชีย อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ ปากีสถาน จีน และบรูไน ทวีปยุโรป (6 ประเทศ) ได้แก่ ตุรกี สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ บัลกาเรีย และ ตูนิเซีย ทวีปแอฟริกา (6 ประเทศ) ได้แก่ มอริเตเนีย เคนย่า ไนจีเรีย กาบอง ซูดาน และโมร็อกโก ตะวันออกกลาง (2 ประเทศ) ได้แก่ กาตาร์ อิหร่าน ทวีปอเมริกาใต้ (2 ประเทศ) ได้แก่ บราซิล และ ตรินิแดดแอนด์โตเบโก โดยประเทศที่แสดงความจำนงจัดสวนนานาชาติสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป
นาย วี จี ลอสเซอเทเรส เลขาธิการสำนักงานมหกรรมโลก(BIE- Bureau of International Exhibitions) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้จัดงานและผู้แทนประเทศต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดมหกรรมราชพฤกษ์ 2549 ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามรายงานความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงาน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมงาน เรื่องระเบียบการและข้อควรปฏิบัติต่างๆ สำหรับประเทศที่เข้าร่วมในมหกรรมฯ ตลอดจนกิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้นระหว่างการแสดงงาน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เลือกผู้แทนจากประเทศต่างๆ ให้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้แทนประเทศ และจะมีการเลือกตั้งผู้แทนจากชาติสมาชิก BIE เพื่อเป็นกรรมการของคณะผู้แทนประเทศอีกด้วย
“การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ประเทศผู้เป็นเจ้าภาพ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของ สำนักงานมหกรรมโลกและสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ อย่างเคร่งครัด ซึ่งการเตรียมจัดงาน “ราชพฤกษ์ 2549” มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ทางสำนักงานมหกรรมโลกกำหนดไว้ ทั้งด้านขนาดพื้นที่ ระยะเวลาการจัดงาน สาระสำคัญของการนำเสนอในระดับสากล รวมทั้งปัจจัยความพร้อมในอีกหลายด้าน ทั้งความหลากหลายของพรรณไม้ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่โดดเด่นของประเทศไทย ประกอบกับมาตรฐานการบริหารจัดการในระดับโลก
และจากการเข้าดูการเตรียมความพร้อมของพื้นที่จัดงาน การวางแผนอำนวยความสะดวกแก่นานาประเทศของผู้จัดงาน สรุปได้ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนระดับมหกรรมโลกได้อย่างแท้จริงและเป็นไปตามมาตรฐานการจัดงานระดับมหกรรมโลก ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะหนุนไทยโดดเด่นในด้านความสามารถและศักยภาพในการจัดงานนิทรรศการหรือมหกรรมระดับโลกให้ยิ่งใหญ่ได้ เป้าหมายสำคัญของงานมหกรรมพืชสวนนั้น คือเพื่อจูงใจและผลักดันให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อทำให้เมืองมีความเขียวขจี ลดความรุนแรงในหมู่มวลมนุษย์ อันจะนำไปสู่สู่สันติภาพ และสังคมที่แข็งแรงยิ่งขึ้น แม้ในยุคแห่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีเช่นนี้ ดอกไม้ และพืชพรรณ ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่สามารถแยกจากชีวิตมนุษย์ได้นอกจากนี้ด้วยแนวคิด “เพื่อนำความรักสู่มวลมนุษยชาติ” (To Express the Love for Humanity) ของงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 นี้ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยอันโดดเด่นในเรื่องความหลากหลายและความงามด้านพืชสวนของประเทศไทย” นาย ลอสเซอเทเรส กล่าว
ข้อมูลประกอบ
งานมหกรรมโลก หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า World Expo เป็นงานแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับนานาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นโดยความเห็นชอบของสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exhibitions — BIE) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นภายใต้ข้อสนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจบันมีประเทศสมาชิกทั่วโลกถึง 98 ประเทศ
ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดระเบียบและมาตรฐานของการจัดงานระดับมหกรรมโลก BIE มีหน้าที่ควบคุมความถี่และคุณภาพของการจัดนิทรรศการทั่วโลก รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางระหว่างประเทศในการสนับสนุนและประสานงานการจัดงานมหกรรมโลก เพื่อให้การดำเนินการต่างๆเป็นไปโดยเรียบร้อย และบรรลุวัตถุประสงค์ คือ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และวิทยาการแขนงต่างๆซึ่งแตกต่างจากงานแสดงสินค้า ประเทศที่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกจะต้องขอรับการรับรองจากสำนักงานมหกรรมโลกตามระเบียบ
สำนักงานมหกรรมโลกได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อการจัดงาน ราชพฤกษ์ 2549 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 โดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี (General Assembly) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองงานมหกรรมพืชสวนโลกเทิดพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ของประเทศไทยในมาตรฐานการจัดงานระดับ A1 ซึ่งเป็นระดับการรับรองสูงสุดของการจัดงานมหกรรมโลกประเภทพฤกษชาติ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลกที่รับรองโดย BIE และการรับรองในครั้งนี้มีนัยสำคัญไม่เพียงแต่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ยังเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคุณสมบัติพร้อมในการยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมโลกในระดับ Universal Exposition ในอนาคตด้วย
บทบาทของไทยต่อสำนักงานมหกรรมโลก (BIE) คือไทยเริ่มเป็นสมาชิก BIE ตั้งแต่ปี 1993 โดยมีกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นผู้แทนประเทศไทย และสำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม และประสานงานด้านต่างๆกับ BIE และในปี 1997 ไทยได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร (Information Committee)
งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ถือเป็นการจัดงานระดับเวิร์ดเอ็กซ์โป ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาด้านเกษตรกรรม พืชสวนเขตร้อนของไทยให้ปรากฏสู่สายตานานาชาติ รวมทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 และทรงเจริญพระชนม์มายุ 80 พรรษาในปี 2550 ภายในงานจัดแสดงพรรณไม้มากกว่า 2,500,000 ต้น รวมถึงพืชพรรณและไม้ดอกเขตร้อนกว่า 2,200 สายพันธุ์ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 2 ล้านคนจากทั่วโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่จะได้มีโอกาสร่วมกันจัดงานมหกรรมโลก ในระดับ A1ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งผลจากการรับรองในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาคการเกษตร และการท่องเที่ยวของไทย # # #
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ เกศินี 01 9893416, นวพร 05 9079490

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ