กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ส่งสัญญาณเจาะตลาดลงทุนธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ทท่องเที่ยวราคาประหยัดในเมืองไทย ย้ำตลาดขยายตัวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจจากจีนและอินเดีย พร้อมประกาศความพร้อมในการเป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรมของไทย ที่ทำตลาดโรงแรมและรีสอร์ทครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ย้ำการระดมทุนในครั้งนี้สามารถรองรับ การขยายการลงทุนตามแผน 3 ปี
บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) [“Erawan”
] เข้าทำบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกับ กลุ่มแอคคอร์ เพื่อสร้างเครือข่ายโรงแรมระดับราคาประหยัดภายใต้แบรนด์ Ibis จำนวน 10 แห่ง ครอบคลุม 6 แหล่งท่องเที่ยวหลักทั่วประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และ กระบี่ บริษัทคาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 6 โรงแรมภายในปี 2551 และอีก 4 โรงแรมในปี 2553 แต่ละโรงแรมจะมีห้องพักจำนวน 200-250 ห้องโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อ 1 โรงแรม
กลุ่มแอคคอร์เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านการบริหารโรงแรมระดับราคาปานกลางถึงระดับราคาประหยัด และยังเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ปัจจุบันในประเทศไทย แอคคอร์บริหารงานอยู่ทั้งสิ้น 23 โรงแรม และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 13 โรงแรมภายใน 2 ปีข้างหน้า ไม่รวมถึงโรงแรมที่ทำบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มเอราวัณ สำหรับแบรนด์ “Ibis” ภายใต้การบริหารของแอคคอร์นั้น ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ราคาประหยัดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีโรงแรมมากกว่า 720 โรงแรมทั่วโลก
นายกษมา บุณยคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โรงแรมระดับราคาประหยัดในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่และยังไม่ได้รับความสนใจมากนักจากผู้บริหารโรงแรมระดับโลก กลุ่มแอคคอร์จึงเป็นพันธมิตรที่เรียกได้ว่าเหมาะสมที่สุดในการพัฒนาตลาดนี้ร่วมกับเรา โรงแรมราคาประหยัดมี 3 ลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ คุณภาพได้มาตรฐาน เรียบง่าย และคุ้มค่ากับราคาและอัตราค่าห้องพักเริ่มต้นต่ำกว่า 30 ดอลล่าห์สหรัฐฯ ต่อคืน (หรือประมาณ 1,200 บาท) โดยรวมบริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับชั้นประหยัดที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย”
นาย ไมเคิล ไอเซนเบิร์ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอร์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าว “แอคคอร์มีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่จะร่วมพัฒนากับกลุ่มเอราวัณ ซึ่งโรงแรมใหม่ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับห้าดาว มีเพียงส่วนน้อยที่รองรับตลาดที่มีการเติบโตสูงที่สุดในขณะนี้ อันได้แก่ ตลาดระดับราคาประหยัด โดยจะเห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค ซึ่งเรามองว่า Ibis เป็นแบรนด์ที่รองรับความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี”
นาย ไมเคิล ไอเซนเบิร์ก กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประกาศครั้งนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่ Ibis กำลังมีการเติบโตในการขยายงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสูงที่สุด ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ทำการเปิดตัว Ibis ในกรุงเทพฯ ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และมีการขยายเครือข่ายโรงแรมเพิ่มขึ้นในประเทศเกาหลี และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศจีนและอินเดีย เราตั้งเป้าหมายที่จะขยายเครือข่าย Ibis ให้มีมากกว่า 20 โรงแรมในแต่ละประเทศ”
โครงการลงทุนในโรงแรม Ibis ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายงานในช่วง 3 ปีนี้ของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 6 พันล้านบาท รวมโครงการที่ได้ประกาศไปแล้ว 2 โครงการคือโรงแรมระดับ 4 ดาว ภายใต้ชื่อ Courtyard by Marriott Bangkok และรีสอร์ทระดับ 5 ดาว ดีลักซ์ ภายใต้การบริหารของกลุ่ม Six Senses (คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2550 ทั้ง 2 โครงการ) แผนการขยายงานครั้งนี้ จะรวมถึงการลงทุนสร้างรีสอร์ทระดับ 4 ดาวซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะประกาศรายละเอียดประมาณกลางปีนี้
นายกษมา อธิบายว่า “กลยุทธ์ของเราที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นที่ยั่งยืนและต่อเนื่องในอนาคต เราตั้งใจจะกระจายการลงทุนทั้งในด้านภูมิศาสตร์และฐานลูกค้า โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2551 เราจะเป็นหลักทรัพย์ที่สะท้อนภาพธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการ 12 โรงแรมภายในปี 2551 ตั้งแต่โรงแรมระดับ 5 ดาว ดีลักซ์ ถึงโรงแรมชั้นประหยัด ในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศไทย”
นายกษมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามีความมั่นใจในศักยภาพของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะคุณค่าของวัฒนธรรม ความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวและอัธยาศัยของคนไทย การขยายเครือข่ายโรงแรมเข้าสู่ตลาดต่างๆ จะทำให้เราไม่เพียงแต่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าในระดับต่างๆ แต่ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในภาพรวมให้บริษัทได้เป็นอย่างดี”
บริษัทคาดว่าจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินกู้ยืมโครงการเพื่อรองรับการลงทุน 6 พันล้านบาทนี้ โดยตั้งเป้าที่จะคงระดับหนี้สินต่อทุนให้ไม่เกินกว่า 2 ต่อ 1 เท่า นอกจากนี้ ในวันที่ 28 มีนาคม 2549 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินทุนทั้งสิ้น 484 ล้านบาท สำหรับหุ้นเพิ่มทุนใหม่แต่ละหุ้นจะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิจำนวน 1 หน่วย โดยที่ใบสำคัญแสดงสิทธิ 2 หน่วยสามารถเปลี่ยนแปลงเป็น 1 หุ้นสามัญในช่วงเดือนธันวาคม 2550 ที่ราคา 2.15 บาทต่อหุ้น เพื่อระดมทุนประมาณ 520 ล้านบาท
เกี่ยวกับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทเป็นเจ้าของโรงแรม 5 ดาวชั้นนำของกรุงเทพฯ 2 แห่งได้แก่ Grand Hyatt Erawan Bangkok และ JW Marriott Bangkok นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าให้เช่าอีก 3 แห่งคือ อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก
ในปี 2548 บริษัทมีการขยายงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคตดังต่อไปนี้
- การเข้าซื้อกิจการโรงแรม 5 ดาวบนเกาะสมุย และเปลี่ยนเป็น Renaissance Koh Samui Resort & Spa ในภายหลัง
- การพัฒนาสร้างโรงแรมนักธุรกิจ Courtyard by Marriott Bangkok ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2550
- การพัฒนารีสอร์ทประเภท deluxe pool villa ในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้การบริหารโดยกลุ่ม Six Senses ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2550
ดิ เอราวัณ กรุ๊ป มีรายได้รวมเท่ากับ 2.9 พันล้านบาทในปี 2548 เพิ่มขึ้น 12.8% จากปีก่อนและมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เท่ากับ 971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3%
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
ปฐวี ชัยพัฒน์ หรือ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร: 0 2252 9871
อีเมล์ [email protected]
- ม.ค. ๒๕๖๘ กลุ่มทรู จัดแคมเปญ “Together Forever” เอาใจคู่รัก รับวันวาเลนไทน์ ชวนคู่หวานเปิดเบอร์ใหม่เสริมดวงความรัก จากทรูมูฟ เอช พร้อมรับฟรี บัตรภาพยนตร์True 4DX มูลค่า 1,200 บาท
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: กรมการค้าภายในเยี่ยมชมกิจการ “ร้านติดดาว” โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตร้านค้าปลีกของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์
- ม.ค. ๒๕๖๘ ประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ใช้ Live Streaming ถ่ายทอดสดการประชุมเป็นครั้งแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์