ตลาดอนุพันธ์พร้อมเปิดให้ซื้อขายอนุพันธ์ เริ่มพ.ย.นี้ เดินหน้ารับโบรกเกอร์นำร่องรุ่นแรก 15 ราย

พุธ ๒๓ มีนาคม ๒๐๐๕ ๑๒:๒๔
กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ และบจ. สำนักหักบัญชี เปิดเวทีชี้แจงเงื่อนไขการรับสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ และสำนักหักบัญชี รับโบรกเกอร์นำร่องรุ่นแรก 15 รายมาร่วมพัฒนาตลาดอนุพันธ์ มั่นใจเปิดซื้อขายได้ภายในพฤศจิกายน 48 นี้
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในวันนี้ (22 มีนาคม 48) บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ และ บ.สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) ได้เชิญบริษัทหลักทรัพย์ที่สนใจเป็นนายหน้าซื้อขายอนุพันธ์มาฟังเงื่อนไขและรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมการเข้าเป็นสมาชิกตลาดอนุพันธ์ และสมาชิกของสำนักหักบัญชี ตลอดจนแนวทางในการจัดเตรียมระบบงานเพื่อรองรับการซื้อขายอนุพันธ์ นอกจากนี้ ยังจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับ SET50 Index Futures ซึ่งเป็นสินค้าแรกที่จะเปิดซื้อขายอีกด้วย
“จากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์การรับและกำกับดูแลสมาชิกในวันนี้พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งที่ตลาดอนุพันธ์เสนอ โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ ตลาดอนุพันธ์จะเริ่มรับสมาชิก (โบรกเกอร์) รุ่นแรกจำนวน 15 รายก่อน เพื่อมาบุกเบิกและพัฒนาตลาดอนุพันธ์ร่วมกัน โดยโบรกเกอร์ที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ สามารถดำเนินการควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการขอสมัครเป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี และการยื่นขอใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การรับสมาชิกตามที่ตลาดอนุพันธ์กำหนด
ในส่วนของระบบซื้อขายและชำระราคาอนุพันธ์นั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านเงินทุนและการดำเนินงานทั้งหมด รวมทั้งยังมีนโยบายที่จะให้บริการระบบปฏิบัติการสำหรับการซื้อขายอนุพันธ์ (Derivatives Back Office Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทสมาชิกของตลาดอนุพันธ์อีกด้วย ทั้งนี้ ตลาดอนุพันธ์จะทำการทดสอบความพร้อมของทุกระบบงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นก่อนเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าแรก SET50 Index Futures ในเดือนพฤศจิกายนนี้” นางเกศรากล่าว
นางอุดมวรา เดชส่งจรัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี ของการดำเนินธุรกรรมของตลาดอนุพันธ์ กล่าวถึงมาตรการในการบริหารความเสี่ยงในส่วนของการชำระราคาว่า เนื่องจากสำนักหักบัญชีเป็นผู้ค้ำประกันรายการซื้อขายทุกรายการที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธ์ โดยเข้าเป็นคู่สัญญาให้กับสมาชิกของสำนักหักบัญชี สำนักหักบัญชีจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการคัดเลือกสมาชิก รวมทั้งยังต้องมีระบบการคำนวณและเรียกเก็บหลักประกันจากสมาชิก และจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความมั่นใจในระบบชำระราคาอนุพันธ์และต้องการเข้ามาซื้อขายในตลาดอนุพันธ์
พร้อมกันนี้ สำนักหักบัญชียังได้ตั้งกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบชำระราคาและส่งมอบ (Clearing Fund) สำหรับตลาดอนุพันธ์ขึ้น เพื่อครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการชำระราคา โดย Clearing Fund ของตลาดอนุพันธ์นั้น เป็นกองทุนที่แยกออกจาก Clearing Fund ของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากอนุพันธ์มีลักษณะและความเสี่ยงที่แตกต่างจากหุ้น
Clearing Fund สำหรับตลาดอนุพันธ์ ประกอบด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 100 ล้านบาท และเงินสมทบที่จะเรียกเก็บจากสมาชิกของสำนักหักบัญชีอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้กันเงินสำรองอีกจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสำนักหักบัญชีสำหรับนำมาใช้ในกรณีที่มีความจำเป็น--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ