กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัทเงินทุน ธนชาติ จำกัด (มหาชน) (“NFS”) ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (‘A ลบ (tha)) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารธนชาต (“NBANK”) ซึ่งเป็นบริษัทลูกซึ่งดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ NFS ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (‘A ลบ (tha)) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’
ในปี 2548 NFS ได้ทำการโอนธุรกิจเงินทุน รวมทั้งสินทรัพย์และหนี้สินบางส่วน ยกเว้นเงินลงทุน ยอดคงค้างลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ และหุ้นกู้ของบริษัท ไปยัง NBANK ในปี 2548 รายได้จากการดำเนินงานของ NFS ยังคงคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของทั้งกลุ่ม ในขณะที่รายได้ในส่วนของ NBANK คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 35% อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งปี 2549 ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ NBANK น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของรายได้รวมของทั้งกลุ่ม
อันดับเครดิตของ NFS สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางด้านเงินกองทุน การเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และฐานการดำเนินธุรกิจทางการเงินที่กว้างขวาง ความเสี่ยงหลักต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ได้แก่หนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อที่สูงของบริษัทลูก และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ คุณภาพของสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับโครงสร้างของกลุ่มจะเสริมสร้างองค์กรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความแข็งแกร่งทางการเงินที่ดีขึ้น การโอนธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อของ NFS ไปยัง NBANK จะทำให้ NFS ต้องพึ่งพาเงินปันผลจาก NBANK เพิ่มขึ้น ในระยะปานกลางเนื่องมาจาก NFS ถูกปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งเต็มตัว
ในขณะที่กำไรสุทธิของ NFS ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2548 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่แข็งแกร่งและการโอนกลับสำรองหนี้สูญ กำไรก่อนการกันสำรองหนี้สูญลดลง 5.8% โดยมีสาเหตุหลักจากแรงกดดันต่ออัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างของกลุ่ม รายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และกำไรจากเงินลงทุนก็ลดลงด้วย เนื่องมาจากสถานการณ์ในตลาดทุนที่อ่อนแอลง สินเชื่อเช่าซื้อคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของทั้งกลุ่ม เมื่อพิจารณาถึงยอดคงค้างลูกหนี้ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของ NFS ลดลงจาก 3.28% ในปี 2547 เป็น 3.18% ในปี 2548 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 จาก 8.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 แม้ว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อทั้งหมดจะลดลงเป็น 8% จาก 11.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อ ระดับการกันสำรองหนี้สูญลดลงเป็น 64.7% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 จาก 70.2% ณ สิ้นปี 2547 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 NFS มีเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งอยู่ที่ 11.7 พันล้านบาท หรือ 10.3% ของสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มขึ้นจาก 9.8 พันล้านบาท หรือ 8.5% ณ สิ้นปี 2547 เนื่องมาจากการเติบโตของผลกำไรและการโอนสินทรัพย์ไปให้ NBANK ขนาดของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ NFS จัดได้ว่าเหมาะสมกับขนาดของบริษัทที่เล็กและความผันผวนของตลาด เมื่อพิจารณาเงินกองทุนของทั้งกลุ่ม เงินกองทุนจัดได้ว่าแข็งแกร่งกว่า เนื่องมาจากเงินกองทุนที่ลงทุนใน NBANK ถูกหักออกจากเงินกองทุนที่ระดับบริษัทแม่ในงบการเงินรวม
อันดับเครดิตของ NBANK สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกลุ่ม NFS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในขณะที่การโอนธุรกิจเงินทุนของ NFS ไปให้ NBANK รวมทั้งการที่ปล่อยให้ยอดสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างที่ NFS ค่อยๆถูกทยอยชำระคืนจนหมดไป จะส่งผลให้ NBANK มีฐานะเป็นบริษัทลูกซึ่งประกอบธุรกิจหลักของกลุ่ม ความสามารถในการทำกำไรของ NBANK ในปัจจุบัน ได้ถูกจำกัดโดยค่าใช้จ่ายในการขยายเครือข่ายธนาคาร ถึงแม้ว่าการโอนธุรกิจธนาคารและเงินทุนของ NFS ไปยัง NBANK น่าจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและเงินฝากของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว ระดับการกันสำรองหนี้สูญของ NBANK ที่ต่ำ การกระจุกตัวของรูปแบบสินเชื่อและกลยุทธ์การขยายตัวที่สูงของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท ท่ามกลางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจในตลาดสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่อ่อนแอลง NBANK ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย โดยมีส่วนแบ่งตลาดทางด้านเงินฝากในภาคธุรกิจธนาคาร หลังการปรับโครงสร้างแล้ว น้อยกว่า 3% ฟิทช์เชื่อว่าถึงแม้การสนับสนุนจากทางรัฐบาลที่จะมีต่อ NBANK นั้น มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ควรยึดถือการสนับสนุนนั้นว่าเป็นสิ่งที่แน่นอน
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--
- ๑๔ พ.ย. EXIM BANK โชว์สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง คงอันดับเครดิตสูงสุดในประเทศ ระดับ AAA(tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ เท่ากับประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12
- ๑๔ พ.ย. SME D Bank ปลื้ม 'ฟิทช์ เรทติ้งส์" คงอันดับเครดิตสูงสุดในประเทศ ระดับ AAA(tha) สะท้อนสถานะมั่นคง มีบทบาทสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทย
- ๑๔ พ.ย. ฟิทช์คงอันดับเครดิต บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด ที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ