กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม
จังหวัดสุรินทร์หนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตั้งโรงงานเดินเครื่องผลิตแล้ว 2 แห่ง จ้างงาน 2 พันคน ลงทุนกว่า 220 ล้านบาท ดึงคนหนุ่มสาวทำงานในจังหวัด สร้างเศรษฐกิจจังหวัดโต แย้มบริษัทธนูลักษณ์ฯ เครือสหพัฒน์ฯ สนใจไหมสุรินทร์ ศึกษาเตรียมตั้งโรงงานทำฝ้ายผสมไหม ผลิต CottaZilk ส่งนอก
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอควรขยายตัวไปยังภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังเช่นที่เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่จังหวัดชัยภูมิ เพราะมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงขั้นต่ำยังไม่สูงมากนัก สำหรับจังหวัดสุรินทร์นับว่าน่าสนใจลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ทางบริษัท ธนูลักษณ์ จำกัดในเครือสหพัฒนพิบูลย์ ที่ผลิตเสื้อผ้า CottaZilk ผ้าที่มีส่วนผสมของใยฝ้ายและเส้นไหม ยังให้ความสนใจไปศึกษาข้อมูลด้านวัตถุดิบเส้นไหม เพื่อเข้าไปลงทุนในจังหวัดสุรินทร์ด้วย ซึ่งหากตัดสินใจลงทุน จะเป็นตัวอย่างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งยังช่วยกลุ่มแม่บ้านในภาคอีสานที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ภาครัฐได้ช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอโดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ที่ปัจจุบันไทยส่งออกสิ่งทอ มูลค่า 2.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นลำดับ 13 และส่งออกเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 3.62 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 12 ของโลก
ด้านนายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของโครงการส่งเสริมการลงทุนสิ่งทอของจังหวัด ว่า ตอนนี้นักลงทุนจำนวน 2 รายได้เข้ามาตั้งโรงงานและเริ่มต้นผลิตแล้ว คือ บริษัท แบ็กซเทอร์ เบรนตัน จำกัด เป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตั้งอยู่อำเภอปราสาท ได้ลงทุนในเฟสแรกประมาณ 190 ล้านบาท มีการจ้างแรงงาน 1,500 คน ส่วนอีกแห่งคือบริษัท บีมา จำกัด เป็นโรงงานตัดเย็บชุดชั้นในสตรี ตั้งอยู่อำเภอสังขะ งบลงทุนประมาณ 24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 500 คน จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการต่างชื่นชมคุณภาพของคนสุรินทร์ในเรื่องทักษะฝีมือ และความมีวินัยในการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อทั้งสองบริษัทลงทุนตามโครงการที่ตั้งไว้จะสามารถจ้างงานได้กว่า 10,000 คน
“การอพยพของคนจังหวัดสุรินทร์ไปทำงานยังจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ทำให้จังหวัดได้พิจารณาถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการจ้างงานดึงคนหนุ่มคนสาวให้มาทำงานอยู่ภายในจังหวัด เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญของจังหวัด เพราะทรัพยากรมนุษย์คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงควรนำเครื่องจักรมาหาคน และสร้างงานให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น จังหวัดพร้อมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์จึงไปชักจูงนักลงทุน แสดงให้เห็นศักยภาพความพร้อมของจังหวัด เช่น ทำเล แรงงาน ทรัพยากรวัตถุดิบในพื้นที่ รวมทั้งการดูแลสนับสนุนนักลงทุน ซึ่งจังหวัดให้ความสำคัญอย่างมากโดยได้สนับสนุนงบประมาณซีอีโอในการพัฒนาทักษะอาชีพการผลิตแบบโรงงานแก่ราษฎร สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอนับว่าเหมาะสมกับชาวจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งรักและมีพื้นฐานการทอผ้าไหมครบวงจรอยู่แล้ว ดังนั้นการเย็บจักรอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องอบรมเพิ่มเติมทักษะฝีมือแก่ประชาชนเท่านั้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าว
- ๒๓ ม.ค. เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล ผนึก NIDA เปิดการอบรมหลักสูตร "ผู้บริหารระดับสูงด้านเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม"
- ๒๓ ม.ค. 8 ม.ค.นี้ พบกับงานยิ่งใหญ่แห่งปีจาก สศอ. "OIE FORUM 2024: Industrial Reform ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่"
- ๒๔ ม.ค. "ดีพร้อม" ขานรับนโยบาย "รมว.เอกนัฏ" จัดเต็มของขวัญปีใหม่ชุดใหญ่เพื่อเอสเอ็มอี ดันซอฟท์พาวเวอร์ไทย ปั้นเชฟใหม่ เสริมแกร่งเติมทุน ต่อยอดธุรกิจสู่สากล