กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 22 ธค. 2549 สถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนา การผลิตไฟฟ้าของไทยควรใช้เชื้อเพลิงชนิดใด เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงทางเลือกของเชื้อเพลิงที่เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้า และต้องการเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าใจร่วมกัน โดยมีความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยวิทยากรจากสถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ
รศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวว่า ทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงสำหรับอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้าน เช่น ความมั่นคงด้านพลังงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้นทุนด้านการผลิตไฟฟ้า โดยเมื่อเปรียบเทียบเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ พบว่า ต้นทุนทั้งหมดของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจะถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ จึงควรมีการส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เพื่อลดข้อกังวลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.ภิญโญ มีชำนาญ นักวิจัยอาวุโสเรื่องถ่านหิน สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬา ฯ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าของไทยควรพิจารณาถึงหลัก 4 E คือ ด้านเศรษฐศาสตร์ (Economic) ได้แก่ เงินลงทุน ราคาเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ได้แก่ การปล่อยมลภาวะ การกำจัดของเสีย และประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นและระดับโลก ด้านวิศวกรรม/วิทยาการ(Enginering ได้แก่ ระดับการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบรับมือกับกรณีฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงพลังงาน (Energy Security) ได้แก่ ปริมาณสำรองเชื้อเพลิง สามารถจัดหาพลังงานได้ อย่างแน่นอน ความหลากหลายของแหล่งเชื้อเพลิง การป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนด้านราคา การก่อร้าย เป็นต้น
โดยปัจจุบันนี้ สัดส่วนพลังงานที่โลกใช้คือ น้ำมัน 34.3 % ถ่านหิน 25.1% ก๊าซธรรมชาติ 20.9% นิวเคลียร์ 6.5% พลังน้ำ 2.2 % พลังงานหมุนเวียน 10.5% อื่น ๆ 0.4% โดยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่หลาย ๆ ประเทศ ใช้เป้นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 28% ไต้หวัน 34 % และเกาหลี 39%
นอกจากนี้ ถ่านหินยังมีปริมาณสำรองสูงถึง 220 ปี และมีหลายแหล่งกระจายอยู่ทั่วโลก ราคาจึงเสถียรภาพ ไม่ผันผวน และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าได้กำจัดมลพิษจากถ่านหินได้ แม้กระทั่งเปลี่ยนถ่านหินเป็นน้ำมันดีเซล ดังนั้น ประเทศไทยที่ยังใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% ควรมีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง และหันมาใช้ถ่านหิน เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงาน
นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บมจ. ปตท. กลุ่มสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ กล่าวว่า การเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่มีอยู่แต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้า เนื่องจาก มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ แหล่งจัดหาส่วนใหญ่ได้ในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งได้จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติจะถูกกว่า และใช้เวลาการก่อสร้างน้อยกว่าโรงไฟฟ้าอื่น ๆ แม้ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติจะสูงกว่าถ่านหินก็ตาม
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มไบโอแมส กล่าวว่า เชื้อเพลิงชีวมวล แม้จะดูว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ติดปัญหาด้านราคาที่สูงขึ้นมากกว่า 4-5 เท่า เนื่องจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมได้ด้วย จึงเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบส่งผลให้ราคาสูงขึ้นมาก จึงไม่เหมาะจะเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ตัดสินใจ ควรอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน โดยภาครัฐยังใช้ต้นทุนทางการเงินแทนที่จะเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรวมต้นทุนทางด้านสังคม และทางสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา นโยบายด้านพลังงานมีการกำหนดหรือตัดสินใจจากภาครัฐ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เท่านั้น ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้น หากจะเลือกใช้เชื้อเพลิงแบบใด หรือการจัดการด้านพลังงาน ควรมีการกระจายอำนาจการวางแผนจัดการไฟฟ้า ทั้งภาคการผลิต จำหน่าย โดยชุมชน และภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และให้ชุมชนหรือผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะเข้ามาจัดการและประกอบกิจการสาธารณูปโภค กิจการไฟฟ้าด้วยต้นเอง หรือกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีกเองได้
ศ.ดร. ดุสิต เครืองาม รองกรรมการบริษัท บริษัทโซลาร์ตรอน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในไทย ควรให้ความสำคัญกับการผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะสามารถพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าได้โดยตรง เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้เอง แม้จะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในที่สัมมนาได้สรุปว่า การมีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทุกเชื้อเพลิงล้วนมีความสำคัญและควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับของชุมชน
- พ.ย. ๒๕๖๗ Xinhua Silk Road: "เฉิงหง โฮลดิ้ง กรุ๊ป" เปิดตัวโครงการพลังงานใหม่ในเมืองจางเจียกังทางตะวันออกของจีน
- พ.ย. ๒๕๖๗ Fraunhofer ISE เผยผลการศึกษารอบที่สอง พบโมดูล Vertex 210 และระบบติดตามของทรินา ช่วยลด LCOE ได้ 6.0%
- พ.ย. ๒๕๖๗ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ร่วมกับ วิศวะ จุฬาฯ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ จัดการเสวนา “โครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ตกริด : อนาคตประเทศไทย”