โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จัดการสัมมนา“เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบ GMP”

พฤหัส ๐๙ มีนาคม ๒๐๐๖ ๑๕:๕๐
กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จัดการสัมมนา“เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบ GMP”มุ่งสร้างเสริมผู้ประกอบการไทยเข้มแข็ง ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอุตสาหกรรม
เช้าวานนี้ (8 มี.ค. 49) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบ GMP” พร้อมมอบโล่ห์แสดงความยินดีแก่บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 21 บริษัท โดยมี รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) และผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ตัวแทนจากส่วนราชการต่าง ๆ และผู้ประกอบการกิจการเข้าร่วมในพิธี
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาระบบ GMP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง ด้วยอุตสาหกรรมจะมีสุขลักษณะที่ดีในการผลิต เนื่องจากเป็น การวางระบบการจัดการด้านการผลิตและการประกันคุณภาพที่ดี มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ได้กำหนดให้ระบบ GMP(Good Manufacturing Practice) หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต เป็นข้อบังคับในอุตสาหกรรม บางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่อุตสาหกรรมประเภทอื่นนั้นคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากที่เริ่มพัฒนาระบบ GMP แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์”
ศ.ดร.ชัชนาถฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ ITAP ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบ GMP ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จึงได้ริเริ่มการสนับสนุนโครงการ GMP มาอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ด้วยความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการและพนักงานของบริษัท ความมุ่งมั่นเชี่ยวชาญของที่ปรึกษา และความสามารถในการบริหารจัดการของที่ปรึกษาเทคโนโลยีของ ITAP ทำให้มีบริษัทที่ร่วมโครงการกับ ITAP สามารถผ่านการรับรอง GMP จาก อย. ถึง 28 บริษัท”
การจัดงานในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ การผลิตและด้านเทคโนโลยีของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งด้านการผลิต การจัดการ และคุณภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัตถุอันตราย ซึ่งการจัดการและการบริหารระบบคุณภาพถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยการสร้างคุณภาพโดยใช้หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เป็นแนวทางใน การปฏิบัติ ในวันนี้การสัมมนาได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วมการบรรยายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายเรื่อง“เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ...ในการพัฒนาระบบ GMP” การอภิปรายเรื่อง “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ...ในการได้รับการรับรองระบบ GMP” โดยตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอาง และตัวแทนจากภาคเอกชนในกลุ่มผู้ผลิตวัตถุอันตราย ตลอดจน การตอบข้อซักถามต่าง ๆ แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเผยแพร่ผลงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งเป็นเวทีในการพบปะลูกค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอความรู้ใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนประมาณ 120 คน จากบริษัทผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบการจัดการสู่มาตรฐานวิธีการผลิต ที่ดี GMP และบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ ITAP ได้เริ่มโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบ GMP มาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐในประเทศ และต่างประเทศเข้าให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร ซึ่งมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ GMP ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ดังนี้
- การวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น 100 บริษัท
- การจัดฝึกอบรม 70 บริษัท
- โครงการการให้คำปรึกษา (โครงการเดี่ยวและโครงการกลุ่ม) 51 บริษัท
- เสาะหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จำนวน 4 ครั้ง 43 บริษัท
- เสาะหาเทคโนโลยีในประเทศ จำนวน 3 ครั้ง 26 บริษัท
จากบริษัททั้งหมด มีกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษาในระยะยาวทั้งในโครงการกลุ่ม และโครงการเดี่ยว ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับการรับรอง GMP เรียบร้อยแล้วเป็นจำนวน 28 ราย โดยในวันนี้มีบริษัทฯ มาร่วมพิธีรับมอบโล่ห์แสดงความยินดีทั้งสิ้น 21 บริษัท (ดูรายชื่อบริษัทตามเอกสารแนบ) โดยจำแนกตามอุตสาหกรรมได้ ดังนี้ อุตสาหกรรมยา 2 บริษัท เครื่องสำอาง 10 บริษัท วัตถุอันตราย 8 บริษัท และอาหาร 1 บริษัท อาทิ บจก.ห้าตะขาบ ผู้ผลิตยาอมแก้ไอ แก้เจ็บคอ ตราตะขาบห้าตัว บจก.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร.สาโรช ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร บจก.(มหาชน) เชอร์วู้ด เคมิคอล ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชำระล้างทีโพล เป็นต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนบริษัทที่ได้รับการรับรอง GMP ด้านวัตถุอันตรายทั้งหมดจาก อ.ย. นั้น เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการกับ ITAP ถึง 42 % เมื่อเทียบกับบริษัทฯ ทั้งหมดที่ได้รับ การรับรอง
อนึ่ง ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยของโครงการ ITAP ในโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายแห่ง ได้แก่ สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอาง โดยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ เริ่มจากการประชุมชี้แจงการดำเนินตามโครงการ การศึกษาสถานภาพและวิเคราะห์ปัญหาในโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย การจัดสัมมนา ฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ การเสาะหาข้อมูลเทคโนโลยี ทัศนศึกษาดูงานในโรงงานต้นแบบทั้งในและต่างประเทศ และการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับปรุงสถานประกอบการและระบบการจัดการให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์
โครงการ ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. มีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น มีนวัตกรรม และส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการทำธุรกิจในรูปเครือข่ายวิสาหกิจ โดยเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาวิจัย และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ SMEs ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการนำผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ มาก่อให้เกิดกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. โดยมีพันธกิจเพื่อกระตุ้น การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานความรู้ในประเทศไทย โดยใช้การบริหารจัดการเทคโนโลยีโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ มีภารกิจหลัก คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา การนำงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาไปสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และบริการสู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่บ่มเพาะสถาบัน โครงการ และกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นางสาวรัชราพร นีรนาทรังสรรค์ / นายวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476 - 78, 0-9521-2564 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1470
e-mail: [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ