ราชบุรีโฮลดิ้ง ประกาศกำไรไตรมาส 3 ปี 49 ฉบับสอบทาน ที่ 1,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%

พฤหัส ๐๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๖ ๑๓:๔๘
กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รายงานผลกำไรไตรมาส 3 ปี 2549 เพิ่มขึ้น 21% ประกาศพร้อมทุกด้านในการเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้างวดใหม่ปีหน้า และเน้นย้ำนโยบายการเป็นผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค
นายณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2549 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ1,795 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.24 บาท เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินการงวดเดียวกันของปี 2548 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% จากกำไรสุทธิ 1,481 ล้านบาท
ปัจจัยที่มีผลต่อกำไรในไตรมาสนี้ มีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาส 3 ปีนี้ ต่ำกว่าไตรมาส 3 ปี 48 ถึง 78% จาก 581 ล้านบาทในปีที่แล้ว เหลือ 125 ล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากในปีนี้บริษัทฯ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนเงินกู้เดิม (รีไฟแนนซ์) เหมือนไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยรับของบริษัทฯ ในไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาส 3 ปีที่แล้ว 1 เท่า คือ จาก 67 ล้านบาท เป็น 148 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานประจำงวด 9 เดือนแรก ของปี 2549 บริษัทฯ ทำกำไรได้ 5,188 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 3.58 บาท โดยลดลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,486 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้รวมรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 39,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากงวดเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 34,785 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากค่าขายไฟฟ้ารวม จำนวน 38,070 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ 390 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้า จำนวน 561 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ จำนวน 160 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่าย จำนวน 32,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนที่ 28,328 ล้านบาท ประกอบด้วย ต้นทุนขาย 32,473 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จำนวน 403 ล้านบาท
นายณรงค์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรสุทธิในงวด 9 เดือน ปีนี้ ลดลงเล็กน้อย เนื่องจาก ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่บริษัทฯ ทำไว้กับ กฟผ. ได้กำหนดอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าราชบุรีในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จึงส่งผลให้รายได้ค่าความพร้อมจ่ายในปีนี้ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย
อีกทั้ง ต้นทุนขายของบริษัทฯ ในรอบ 9 เดือนปีนี้สูงขึ้น 18% เมื่อเทียบกับรอบ 9 เดือนปีก่อน เนื่องจาก บริษัทฯ ได้มีการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชุดที่ 1 เพื่อทำการหยุดซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ หรือ Major Overhaul และในรอบ 9 เดือน ปีนี้ บริษัทฯ รับรู้ค่าซ่อมอุปกรณ์ตามสัญญาจัดหาและซ่อมอะไหล่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี (Contractual Service Agreement-CSA) ที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ได้ทำกับบริษัท General Electric International Operations Co., Inc. และ บริษัท GE Energy Parts, Inc. ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 3 ชุดให้ดำรงค่าความพร้อมจ่ายได้ตามที่ กฟผ. กำหนด และยังช่วยลดความผันผวนด้านค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยบริษัทฯ จะทยอยแบ่งชำระค่าบริการตามสัญญาทุกไตรมาสตลอดอายุสัญญา 22 ปี
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของบริษัทฯ นายณรงค์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) งวดใหม่ในปีหน้านี้ และมั่นใจว่าจะชนะการประมูลแน่นอน เนื่องจาก บริษัทฯ มีพร้อมในหลายด้าน ทั้งความพร้อมในด้านแหล่งเงินทุนจากฐานะการเงินที่มั่นคงด้วยกำไรสะสมจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มากถึง 17,746 ล้านบาท และมีเงินทุนหมุนเวียนอีกถึง 9,491 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมั่นใจว่าต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรองรับสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์ และการที่รัฐเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศไทยทุกบริษัทเข้าร่วมประมูล IPP จะเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงนโยบายในการรักษาสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในประเทศ
นายณรงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป บริษัทฯ ได้ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำในภูมิภาค ที่เป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน ซึ่งมีภารกิจในการลงทุน พัฒนา และดำเนินงานด้านผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ในส่วนของนโยบาย บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะขยายการดำเนินงานด้านการผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้าตามลำดับ ดังนี้ 1. ผลิตและขายในประเทศ 2. ผลิตต่างประเทศและขายกลับมาในประเทศไทย 3. ผลิตต่างประเทศและขายต่างประเทศ พร้อมทั้งคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคม โดยดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน และยึดหลักการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ข้อมูลทั่วไปบริษัท
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 3,995 เมกะวัตต์ จากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า บริษัทฯ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้ โรงไฟฟ้าราชบุรี กำลังผลิตรวม 3,645 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ กำลังผลิต 350 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ กำลังผลิต 350 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบ กำลังผลิต 1.75 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดสุโขทัย และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 กำลังผลิตประมาณ 153.75 เมกะวัตต์ ในประเทศลาว ซึ่งหากรวมกำลังผลิตในปัจจุบันและกำลังผลิตจากโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ บริษัทฯ จะมีกำลังผลิตทั้งหมดจำนวน 4,500.50 เมกะวัตต์
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนประชาสัมพันธ์
Public Relation Department
มุกพิม จุลพงศธร
Mookpim Chulpongstorn
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
Ratchaburi Electricity Generating Holding PCL.
Tel. 02-9785224
Fax. 02-9379541

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ